ตรัง-“ดำนามหาสนุก” สาวตรังไฟแรงเรียนจบมาทำนา จัดกิจกรรมดำนา-เล่นโคลน ปลูกฝังเยาวชนเรียนรู้อาชีพทำนา ที่มาของเมล็ดข้าว คุณค่ากระดูกสันหลังของชาติ
เมื่อเร็วๆนี้ ที่ศูนย์บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่จังหวัดตรัง(ศูนย์เครือข่ายเกษตรกรรุ่นใหม่ Young Smart Farmer (YSF) จังหวัดตรัง ) ซึ่งทำการเกษตรผสมผสานของนางสาวทัศนีย์ สุขสนาน หมู่ที่ 1 ต.บางดี อ.ห้วยยอด จ.ตรัง ที่ทำเป็นพื้นที่โครงการโคก หนอง นา โมเดล บนเนื้อที่ทั้งหมด 12 ไร่ มีการขุดสระ ปลูกพืชเกษตรผสมผสาน ทั้งมะพร้าวแกง กล้วย เลี้ยงปลาในท้องร่อง และอื่นๆ นอกจากนั้นได้แบ่งพื้นที่ประมาณ 3 ไร่ สำหรับการทำนาปลูกข้าว และมีการจัดกิจกรรมดำนามหาสนุกขึ้น เพื่อเปิดพื้นที่ให้ผู้ปกครอง เด็ก และเยาวชน ทุกเพศ ทุกวัย ทั้งจากในพื้นที่อำเภอห้วยยอด และต่างอำเภอ รวมทั้งต่างจังหวัด ได้มาศึกษาเรียนรู้และสัมผัสวิถีการทำนาปลูกข้าวกว่าจะได้ข้าวทุกเมล็ดที่ทุกคนต้องกิน
โดยเริ่มตั้งแต่การถอนกล้า การสอนเด็กๆลงมือดำนาปักดำต้นกล้าด้วยตนเอง รวมทั้งการเก็บพื้นที่จอมปลวกที่มีตามธรรมชาติในนา ให้เด็กๆได้เล่นสไลด์เดอร์โคลนกลางทุ่งนา โดยพ่อแม่ผู้ปกครองมีการคดข้าวใส่ปิ่นโตหิ้วมากินร่วมกันกลางทุ่งนา สร้างความสนุกสนานให้แก่เด็กๆเป็นอย่างมาก ซึ่งหลังจากเปิดพื้นที่ทำกิจกรรมดังกล่าวในฤดูกาลทำนา พบว่าทั้งผู้ปกครอง เด็ก เยาวชน นักเรียน นักศึกษา สนใจมาร่วมกิจกรรมไม่ขาดสาย เพราะปัจจุบันเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ แทบจะไม่รู้จักวิธีการทำนาปลูกข้าวแล้ว เนื่องจากสภาพพื้นที่ทำนาเดิมหายไป ส่วนใหญ่ชาวบ้านมีการไถปรับพื้นที่ไปทำสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น หรือเปลี่ยนเป็นการปลูกยางพารา ปลูกปาล์มน้ำมันทดแทน ทำให้พื้นที่ทำนาหายไปตามยุคสมัย ได้มาเรียนรู้ เพื่อปลูกฝังอาชีพทำนากระดูกสันหลังของชาติให้เด็กๆได้เรียนรู้ โดยทางศูนย์ฯได้ทำกิจกรรมต่อเนื่องกันมาเป็นปีที่ 2 โดยหน้าฝนก็ทำกิจกรรมทำนาปลูกข้าว ส่วนหน้าเก็บเกี่ยวก็เปิดพื้นที่ให้เด็กๆมาเรียนรู้การเกี่ยวข้าว จับปลาในนา เป็นต้น
น.ส.ทัศนีย์ สุขสนาน เจ้าของแปลงนา และเครือข่ายเกษตรกรรุ่นใหม่ Young Smart Farmer (YSF) จ.ตรัง กล่าวว่า พื้นที่ทั้งหมด 12 ไร่ ตนเองทำเป็นพื้นที่โคก หนอง นา โมเดล แบ่งพื้นที่ สำหรับการขุดสระเก็บน้ำไว้ใช้ตลอดทั้งปี จำนวน 1 ไร่ , ทำสวนมะพร้าวสำหรับแกง ปลูกกล้วยเสริม เนื้อที่รวมประมาณ 7-8 ไร่ และเป็นพื้นที่ทำนา จำนวน 3 ไร่ ข้าวที่ปลูกมีประมาณ 3 สายพันธุ์ ทั้งข้าวเบายอดม่วง ซึ่งกำลังจะเป็นสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI ของจ.ตรัง ,ข้าวนางขวิด และข้าวเหนียว เหตุผลที่ทำกิจกรรมดำนา เพราะตนเองอยากจะทำนามาตั้งแต่ตอนเรียนจบมา ตอนนี้พ่อแม่เปิดโอกาสให้แล้ว จึงลงมือทำอย่างเต็มที่ และตนเองมีลูก จึงอยากให้ลูกมีกิจกรรม มีส่วนร่วม และตนเองเป็นสมาชิกเครือข่าย Young Smart Farmer และมีกลุ่มแม่ๆ จึงอยากให้เด็กๆได้มาร่วมกิจกรรมดำนา มารื้อฟื้นและเรียนรู้วิธีการทำนาที่มาของข้าวที่ทุกคนกิน ซึ่งหลังเปิดกิจกรรมก็มีผู้ปกครองสนใจนำลูกหลานมาร่วมกิจกรรมจำนวนมาก ทุกเพศ ทุกวัย ทั้งวัยเตาะแตะ รวมทั้งนักเรียน นักศึกษา
“หลายๆคนยอมรับว่าไม่เคยรู้จักต้นข้าว ไม่เคยรู้ว่าข้าวแต่ละเมล็ดที่กินเป็นมาอย่างไร ไม่เคยรู้วิธีการทำนา ไม่เคยสัมผัสดินโคลน พูดคุยกันแต่วิชาการ แต่มาถึงก็ร่วมดำนา เล่นโคลน ว่ายน้ำในท้องร่อง เป็นที่สนุกสนานและประทับใจ เป็นการเปิดโลกทัศน์ใหม่ให้ทุกคน หลักๆก็จะมีกิจกรรมดำนา มีสไลด์เดอร์โคลน ช่วงเกี่ยวข้าวก็จะให้เด็กๆมาร่วมเกี่ยวข้าว ช่วงหน้าแล้ง ก็ให้เด็กๆ จับปลาในนา เป็นกิจกรรมที่ทำต่อเนื่องกันมา 2 ปีแล้ว ซึ่งคาดหวังว่าเด็กเยาวชนรุ่นใหม่จะได้เรียนรู้ที่มาของเมล็ดข้าวที่รับประทาน ได้เรียนรู้วิถีชีวิตการทำนาของบรรพบุรุษ เป็นการปลูกฝังให้เด็กๆรู้คุณค่าของข้าวทุกเมล็ดรู้บุญคุณชาวนากระดูกสันหลังของชาติ”น.ส.ทัศนีย์กล่าว
ด้านนายประพัทธ์พงษ์ พฤมนต์ อายุ 46 ปี ผู้ปกครองที่เดินทางมาจาก อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา กล่าวว่า ตั้งใจพาเด็กๆมาร่วมกิจกรรมนี้โดยเฉพาะ เพราะเป็นกิจกรรมที่หาไม่ได้ในชีวิตเมือง โดยมากัน 3 ครอบครัว เด็กๆ 4 คน คิดว่าเป็นกิจกรรมที่ดีที่เปิดพื้นที่แบบให้เด็กๆได้เรียนรู้