การสร้างเมืองตรังให้เป็นเมืองแห่งความสุข สุขพื้นฐานที่ต้องเร่งสร้าง คือ การสร้างสุขทางกาย ซึ่งต้องสามารถมีชีวิตรอด ไม่โดนคุกคามด้วยการเป็นโรค อันนำมาสู่การมีชีวิตอยู่อย่างไม่มีสุข ถึงกับทำให้เกิดการเสียชีวิตได้ แม้เบื้องต้นอายุขัยเฉลี่ยของคนตรังจะสูงกว่าอายุขัยเฉลี่ยของคนไทยก็ตาม
.
“การขับเคลื่อนเมืองตรังให้เป็นเมืองกีฬา นับเป็นตัวอย่างหนึ่งของการสร้างสุขให้เกิดกับเมืองตรัง ความท้าทายอยู่ที่การออกกำลังกายที่เกิดขึ้นต้องสร้างสุขภาพได้ ซึ่งมีข้อมูลเชิงวิชาการว่า การออกกำลังกายจะช่วยป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ หากออกกำลังกายมีความหนัก และต่อเนื่องอย่างเพียงพอ”
นพ.ไพศาล เกื้ออรุณ อดีตนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และนักสันติวิธี
คอลัมน์ : พบหมอไพศาล
.
ข้อมูลจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรัง ปี 2564 ระบุว่า คนตรังอายุขัยเฉลี่ยของเพศหญิง 83.56 ปี เพศชาย 75.26 ปี ในขณะที่มีสุขภาพดีในเพศหญิง 75.76 ปี เพศชาย 69.85 ปี ซึ่งสถิติที่ปรากฏนี้ แสดงให้เห็นว่า คนตรังจะต้องเจ็บป่วยไร้สุขก่อนจากลาไม่น้อยกว่า 6 ปี
เมื่อมาดูสถิติการป่วยตายพบว่า สาเหตุหลักอันดับต้นของคนตรังคือ โรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งกลุ่มโรคนี้ สามารถป้องกันได้ด้วยการออกกำลังกาย การบริโภคอาหารอย่างเหมาะสม และการพักผ่อนที่ดี บทความในคราวนี้จะนำเสนอในส่วนของการออกกำลังกายสร้างสุขก่อน อีกสองวิธีจะนำเสนอต่อไป
ตรังได้รับการคัดเลือกจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้เป็นเมืองกีฬา 1 ใน 16 ของประเทศ โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานการกีฬาแห่งเทศไทย จังหวัดตรัง เป็นผู้ประสานงานหลักคนหนึ่ง ได้แจ้งว่า การจัดการเดิน วิ่ง ปั่น ป้องกันอัมพาตครั้งที่ 8 เฉลิมพระเกียรติ ที่จัดให้มีขึ้นทั่วประเทศ ในวันที่ 30 ตุลาคม 2565 นั้น คนตรังสมัครเข้าร่วมกิจกรรมนี้มากที่สุดใน 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง อันดับที่ 6 ของประเทศ
ข้อมูลนี้ชี้ให้เห็นว่า ตรังสามารถจัดการให้เกิดการออกกำลังกายเพื่อสร้างสุขภาพดี และเกิดความสุขได้ น่าสนใจอย่างยิ่งว่า หากมีการขับเคลื่อนเพื่อสนับสนุนให้เกิดสุขอย่างจริงจัง ด้วยการออกกำลงกายที่ต่อเนื่องเพียงพอ จะลดการป่วยตายจากโรคหัวใจและหลอดเลือดได้มากเพียงใด
“การขับเคลื่อนเมืองตรังให้เป็นเมืองกีฬา นับเป็นตัวอย่างหนึ่งของการสร้างสุขให้เกิดกับเมืองตรัง ความท้าทายอยู่ที่การออกกำลังกายที่เกิดขึ้นต้องสร้างสุขภาพได้ ซึ่งมีข้อมูลเชิงวิชาการว่า การออกกำลังกายจะช่วยป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ หากออกกำลังกายมีความหนัก และต่อเนื่องอย่างเพียงพอ“
ตัวชี้วัดของการออกกำลังกายที่เพียงพอสำหรับป้องกันโรค คือ ต้องออกกำลังกายจนหัวใจเต้นในระดับที่เหมาะสมนานไม่น้อยกว่า 15 นาทีต่อวัน อย่างน้อยวันเว้นวัน การคำนวณอัตราการเต้นหัวใจพึงประสงค์ในการออกกำลังกายคือ 220 ลบอายุเป็นปี แล้วคูณด้วย 0.6 – 0.8 จะได้เป็นจำนวนครั้งการเต้นของหัวใจต่อนาที
เมืองกีฬาจะเป็นสิ่งเร้าที่ดีของจังหวัดตรังในการเป็นปัจจัยหลัก / เอื้อ / เสริม ให้เกิดค่านิยมออกกำลังกายเพื่อสุขภาพต่อไป กิจกรรมออกกำลังกายที่สำนักงานการกีฬาแห่งประเทศไทยได้ขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นมากมาย เป็นสัญญานที่ดีที่แสดงให้เห็นว่า โอกาสสร้างตรังเป็นเมืองแห่งความสุข(ด้านหนึ่ง) ด้วยกีฬาและออกกำลังกายทำได้จริง ขอเชิญชาวตรังมาร่วมสร้างความสุขให้กับตรังเมืองกีฬาไปด้วยกันนะครับ
.
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง
ตรังเมืองแห่งความสุข (2) : นพ.ไพศาล เกื้ออรุณ อดีตนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และนักสันติวิธี
.
โยนิโสมนสิการ หนองบัวลำภู : นพ.ไพศาล เกื้ออรุณ อดีตนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด นักสันติวิธี อดีตคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์ฅนตรัง
.