ขายความคิด พิชิตด้วยนโยบาย “พูดแล้วทำ” “ภูมิใจไทย” เขต 4 ตรัง “ดิษฐ์ธนิน ภาคย์อิชณน์” ขอคนตรัง “เปลี่ยน”

สถานการณ์ทางการเมืองในพื้นที่จังหวัดอันดามันกำลังร้อนแรงน่าจับตายิ่ง ในสมรภูมิการต่อสู่กันระหว่าง 2 พรรคร่วมรัฐบาล ระหว่าง “พรรคประชาธิปัตย์” เจ้าของพื้นที่เดิมภาคใต้ กับ “พรรคภูมิใจไทย” ที่เข้ามาทำพื้นที่อย่างหนักหน่วง และสามารถทยอยเก็บแต้ม เติมเก้าอี้ส.ส.ในกลุ่มจังหวัดอันดามันในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาได้หลายที่นั่ง และผู้สมัคร “พรรคภูมิใจไทย” ซึ่งแท้จริงเป็นหลายของตระกูล “บ้านโล่สถาพรพิพิธ” เอง ก็มาแรงในเขตนี้ “เอก-ดิษฐ์ธนิน ภาคย์อิชณน์(นามสกุลเดิม โล่สถาพรพิพิธ)” ผู้เป็นลูกชายของพี่สาวแท้ๆของ “สมชาย” แต่รอบนี้เขาเลือกใส่เสื้อสีน้ำเงินของ “ภูมิใจไทย” และย้ายเขต และเตรียมตัวเตรียมใจ ลงพื้นที่ทำพื้นที่มาล่วงหน้าหลายปีแล้ว


“การเลือกตั้งครั้งที่แล้วเป็นคำตอบแล้ว ในหลายจังหวัดและ เขต1 ตรัง ก็ได้นายนิพันธ์ ศิริธร จากพลังประชารัฐ ซึ่งก็สะท้อนออกมาด้วย ตอนนี้ผมลงพื้นที่หาเสียงได้บอกกับชาวบ้านว่า ในหลายจังหวัดมีจำนวน ส.ส.หลายคนจากหลายพรรคการเมือง ส.ส.จะแย่งกันทำพื้นที่ แย่งกันพัฒนา เพื่อต้องการขยายฐานให้ใหญ่ขึ้น การจะใหญ่ได้ต้องได้ใจประชาชน นี่เป็นโอกาสและเป็นข้อดีของการแข่งขัน  คำว่า เปลี่ยน ผมใช้เป็นหัวใจสำคัญของการหาเสียง เขต1 มีการเปลี่ยนไปแล้ว ก็อยากให้ประชาชนเขต 4 เปิดโอกาสให้พรรคอื่นเข้ามา เกิดการแข่งขันสูงขึ้น พรรคไหนก็ได้ แต่ต้อง เปลี่ยน”

“เอก-ดิษฐ์ธนิน ภาคย์อิชณน์” ว่าที่ผู้สมัครส.ส.ตรัง เขต 4 พรรคภูมิใจไทย

สถานการณ์ทางการเมืองในพื้นที่จังหวัดอันดามันกำลังร้อนแรงน่าจับตายิ่ง ในสมรภูมิการต่อสู่กันระหว่าง 2 พรรคร่วมรัฐบาล ระหว่าง “พรรคประชาธิปัตย์” เจ้าของพื้นที่เดิมภาคใต้ กับ “พรรคภูมิใจไทย” ที่เข้ามาทำพื้นที่อย่างหนักหน่วง และสามารถทยอยเก็บแต้ม เติมเก้าอี้ส.ส.ในกลุ่มจังหวัดอันดามันในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาได้หลายที่นั่ง

โดยเฉพาะครั้งนี้ การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่นาน เซียนการเมืองวิเคราะห์ตรงกันว่า เที่ยวนี้ “ภูมิใจไทย” อาจสามารถกวาดส.ส.ในโซนอันดามันได้เกือบทั้งหมดก็เป็นได้ จากกระแส กระสุน และต้นทุนของ “พรรคประชาธิปัตย์” ที่คนใต้รับรู้กันดีว่า เริ่มลดน้อยถอยลง ขณะที่พรรคแกนนำอย่าง “พรรคพลังประชารัฐ” ในทางลับก็ไฟเขียว ปล่อยพื้นที่นี้ให้ “ภูมิใจไทย” ขับเคลื่อนดำเนินการ

มาที่จ.ตรัง เป็นเมืองหลวงการเมืองของประชาธิปัตย์มายาวนาน โดยครั้งที่ผ่านมาโดน “พรรคพลังประชารัฐ” แบ่งไปได้ 1 เก้าอี้ในเขต 1 คงได้ส.ส.ใน 2 เขตเลือกตั้งที่เหลือ และในการเลือกตั้งครั้งหน้าจะกลับมาเป็น 4 เขต เลือกส.ส.ได้ 4 คนตามเดิม

และวันนี้ สงครามคนกันเองเพิ่งสงบลงไปหมาด โดยการทำโพลสำรวจความคิดเห็น เพื่อเฟ้นการตัวผู้สมัครในนามประชาธิปัตย์ แชมป์เก่าหลายสมัยอย่าง “สมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล” อดีตส.ส.ตรังเขต 4 อ.กันตัง อ.ย่านตาขาวบางส่วน และอ.สิเกาบางส่วน และเลขานุการ “ชวน หลีกภัย” ประธานสภาผู้แทนราษฎร พ่ายผลโพลให้กับ “กาญจน์ ตั้งปอง” สท.เมืองกันตัง ที่ได้รับการผลักดันจาก “บ้านโล่สถาพรพิพิธ” โดยสองพ่อลูก “สมชาย โล่สถาพรพิพิธ” อดีตส.ส.ตรังเขต 3 และ “สุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ” ส.ส.ตรังเขต 3 พรรคประชาธิปัตย์ คนปัจจุบัน และกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์

หากไม่มีอะไรผิดพลาด แม้ “สมบูรณ์” ยังติดใจการทำโพลโดย “เดชอิศม์ ขาวทอง” รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คุมภาคใต้ ก็แน่นอนว่า “กาญจน์” จะต้องเป็นตัวแทนพรรครักษาพื้นที่ แต่ทว่า เขต 4 ตรัง ก็เป็นสนามขับเคี่ยวที่ดุเดือดถึงขั้น “สมชาย” เคยออกมาบอกว่าให้ระวังจะเป็น “หลุมดำ” ของประชาธิปัตย์

และผู้สมัคร “พรรคภูมิใจไทย” ซึ่งแท้จริงเป็นหลายของตระกูล “บ้านโล่สถาพรพิพิธ” เอง ก็มาแรงในเขตนี้ “เอก-ดิษฐ์ธนิน ภาคย์อิชณน์(นามสกุลเดิม โล่สถาพรพิพิธ) ผู้เป็นลูกชายของพี่สาวแท้ๆของ “สมชาย” การเลือกตั้งที่ผ่านมา ดิษฐ์ธนิน” ลงสมัครในนาม “พรรคพลังประชารัฐ” ในเขต 3 ชนกับ “สุณัฐชา” ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องของตัวเอง และในคะแนนมาในระดับที่ไม่ขี้เหร่เลยทีเดียว แต่รอบนี้เขาเลือกใส่เสื้อสีน้ำเงินของ “ภูมิใจไทย” และย้ายเขต และเตรียมตัวเตรียมใจ ลงพื้นที่ทำพื้นที่มาล่วงหน้าหลายปีแล้ว

จึงไม่ง่ายนักสำหรับ “กาญจน์” ซึ่งยังเป็นคนหนุ่มใหม่ถอดด้ามในทางการเมือง ซ้ำยังต้องแบกรับภาระในสมรภูมิการแข่งขันสูง ท่ามกลางกระแสพรรคประชาธิปัตย์ ที่ต้องยอมรับว่าลดน้อยถอยลง

ช่วงบ่ายแก่ๆที่ร้านกาแฟ ว่างเว้นจากการลงพื้นที่ “ดิษฐ์ธนิน” จิบหาแฟกับกองบรรณาธิการ www.trangtoday.net ทยอยปอกเปลือกที่มาที่ไปของการตัดสินใจลงสนามเขต 4 ตรัง ในครั้งนี้ ไม่ใช่ฐานะหลานของบ้านใหญ่อำเภอย่านตาขาวของตระกูลโล่ฯ แต่ในฐานะว่าที่ผู้สมัคร “พรรคภูมิใจไทย” เจ้าของสโลว์แกน “พูดแล้วทำ”

@พื้นที่จ.ตรัง พรรคภูมิใจไทย ตอนนี้มีผู้สมัครครบทั้ง 4 เขตหรือยัง

ดิษฐ์ธนิน : ตอนนี้ว่าที่ผู้สมัครที่ชัดเจน มี 1 เขต คือเขต 4 เนื่องจากต้องไปประชุมพรรคที่กรุงเทพเดือนละครั้ง เพื่อไปรับนโยบายจากทางพรรค ที่ตรังมีเพียงตนเขตเดียว ส่วนเขต  1 , 2 , 3 ตอนนี้มีการไปพูดคุยทาบทามกัน และมีผู้เสนอตัวทำงานกับพรรคภูมิใจจำนวนมากขึ้น เนื่องจากกระแสภูมิใจไทยทั้งประเทศมีกระแสบวก เนื่องจากพรรคมีนโยบายที่ดี เช่น  นโยบายปลดล็อกกัญชา ที่สามารถทำได้จริง ทั้งมีการคาดหวังว่านายอนุทิน ชาญวีระกุล หัวหน้าพรรค ในการเลือกตั้งครั้งต่อไปมีโอกาสจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งดูจากจังหวัดอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นจ.กาญจนบุรี กำนันบอย จ.พัทลุงได้อดีต ส.ส.มา ส่วนจ.สงขลา เขต3 ได้นายไพร พัฒโน อดีตนายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ มาเป็นผู้สมัคร จ.ภูเก็ต เขต 3 มีนายเฉลิมรัฐ เก็บทรัพย์ 

ผมยังเชื่อมั่นว่าต่อไปกระแสข่าวลักษณะว่ามีคนจะย้ายเข้ามาภูมิใจไทย จะมีมากขึ้น จะทำให้คนอื่นๆที่มีความตั้งใจจะทำงานการเมือง เริ่มเข้ามาพิจารณาพรรคภูมิใจไทย ไม่ว่าจะเป็นอดีต ส.ส. หรือ คนที่มีความพร้อม เขาคิดว่าภูมิใจไทยน่าจะมีอนาคตในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

@นโยบายไหนของภูมิใจไทย ที่สามารถจูงใจ และดึงคะแนนเสียงคนภาคใต้ได้

ดิษฐ์ธนิน : เนื่องจากพรรคภูมิใจไทยประสบความสำเร็จเรื่องการปลดล็อกกัญชา พรรคภูมิใจไทยจะพูดเรื่องนโยบายการเลือกตั้งครั้งต่อไป ประชาชนให้ความเชื่อถือมากขึ้น เราพูดแล้วเราทำจริง นโยบายต่อไปของพรรคจะมี 1. นโยบายภาษีบ้านเกิดเมืองนอน มีต้นแบบมาจากประเทศญี่ปุ่น โดยกำหนดให้ 30% ของภาษีที่เราจ่ายไปลงใน อปท.ไหน ซึ่งสามารถสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนได้ เช่น ภาคใต้มีทะเลขนาบทั้งสองฝั่ง มีรายได้จากการท่องเที่ยวปีละมหาศาล แต่ภาษีท่องเที่ยวทั้งหมดถูกเก็บเข้าสู่ส่วนกลาง กระทรวง ทบวง กรม ทำหน้าที่ทำงบฯแจกจ่ายทั่วประเทศ แต่ภาคใต้เสียเปรียบ เพราะพื้นที่เล็ก จำนวน ส.ส.มีน้อย ภาคอื่นๆ พื้นที่ใหญ่ จำนวน ส.ส.มาก โอกาสของการของบประมาณไปจ่ายในพื้นที่ของเขา

ภาคใต้เสียโอกาสมานาน เราเป็นเมืองท่องเที่ยวและสามารถจัดเก็บภาษีได้เยอะ แต่เงินกลับไปอยู่ในส่วนกลางและภาคอื่น หากนโยบายนี้ทำได้สำเร็จ พรรคภูมิใจไทยเราบอกได้เลยพูดแล้วทำ ความเชื่อมั่นของประชาชนต้องมาแน่ๆ กัญชาที่ว่ายากยังทำแล้ว จึงอยากให้เชื่อมั่นว่านโยบายภาษีบ้านเกิดเมืองนอนจะเกิดขึ้นแน่นอน และพรรคฯกำลังเดินไปสู่การเป็นพรรคที่ขายนโยบาย เช่นการเลือกตั้งที่ผ่านมาพรรคสีส้ม หาเสียงแบบไม่มีรูปผู้สมัคร มีเพียงหมายเลข และนโยบาย เขาได้คะแนนเสียง 30,000 กว่าคะแนน แสดงว่าประชาชนอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง เขาอยากได้นโยบาย และพรรคภูมิใจจะเป็นพรรคที่ไปถึงจุดนั้น

2. นโยบายพักหนี้ ปลอดดอก 3 ปี ยอดหนี้รวมไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อคน แต่ต้องเป็นหนี้ในระบบ ซึ่งเหตุผลที่กำหนดไว้ 3 ปี เพราะผู้ใหญ่ในพรรคมองว่าประเทศไทยประสบปัญหาโควิด 3 ปี เศรษฐกิจหยุดชะงัก  และอีก 2  นโยบายตนจะขึ้นไปรับในเดือนกันยายน นี้

ก่อนหน้านี้ผมได้ผลักดันนโยบายนำพื้นที่แนวชายหาด 119 กิโลเมตรของจ.ตรัง เป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน  ตอนยื่นเรื่องไปยังหน่วยงานของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ตอนนี้ได้มีการทำหนังสือมายังจังหวัดตรังเพื่อประเมิน และหากผ่านความเห็นแล้ว จะมีงบมาวิจัย หากผ่านเกณฑ์ทั้งหมดใน 119 กิโลเมตร ชายฝั่งทะเลตรังจะได้รับการประกาศเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน นี่ก็เป็นนโยบายส่วนตัวของผมเช่นกัน

ส่วนนโยบายยางพารา และ ปาล์ม เมื่อครั้งที่ผมสมัครในนามพรรคพลังประชารัฐ พรรคได้บอกให้นำนโยบายเกี่ยวราคายางมาหาเสียง แต่หลังการเลือกตั้งไม่สามารถทำได้ตามที่หาเสียงไว้ ผมคงจะไม่มีหน้าไปตอบกับชาวบ้าน จึงเป็นที่มาของเหตุผลที่ผมต้องย้ายมาอยู่ภูมิใจไทยในครั้งนี้ ทั้งที่พลังประชารัฐยังมีโอกาสในการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลหน้าซึ่งมีอยู่หลายปัจจัย  เรื่องนโยบายผมคิดว่าถ้าเราไม่สามารถอยู่กับเขาได้  เขาไม่เห็นคุณค่า เขาไม่ให้เรามีบทบาทขับเคลื่อน เราก็ไม่มีโอกาสที่จะไปเดินการเมืองเพื่อจะเป็นที่รู้จักในเขต

เรื่องเขตเนื่องจากว่ามีการเพิ่มทีหลัง เขต 4 ประกอบด้วยอ.ย่านตาขาว 4 ตำบล , อ.กันตัง และ อ.สิเกา การลงสมัครครั้งที่แล้วในนามพรรค พปชร. เขต 3  จะมีด้วยกัน 4 อำเภอ คราวนั้นผมลงพื้นที่หนักๆ คือ อ.หาดสำราญ กับ อ.กันตัง ส่วน อ.ปะเหลียนเป็นบ้านเกิดของแม่ผม ผมคิดว่าตอนนั้นมีเวลาแค่ 4 เดือน หากบริหารจัดการไม่ดีจะเดินไม่ทัน ซึ่ง 4 อำเภอนั้นมีประชากร จำนวน 2.5 แสนคน จึงแบ่งเดิน ย่านตาขาวเป็นบ้านเกิดของผม จึงไม่ได้ลงพื้นที่มาก มารุกที่อ.หาดสำราญ กับ อ.กันตัง ตอนนั้นเป็นการเดินปฎิรูป หรือ ปฏิวัติ การเลือกตั้งผู้แทน ก่อนหน้านี้หากพูดถึงการเลือกตั้งจะมีการขึ้นป้ายหาเสียง โบกมือ ของผู้สมัคร

“ตอนนั้นผมแข่งกับพรรคปชป. คู่แข่งผมเป็นคนในตระกูล เป็นลูกพี่ลูกน้องกัน และผมก็รู้ว่าคนในตระกูลโล่ฯของผม เขาทำการเมืองกันแข็งเกร่ง ผมต้องขยัน เอาความตั้งใจมาแลก จึงเป็นที่มาของการเดิน เดิน เดิน จนกระแสขึ้นมา จนเป็นที่รู้ในกันตัง และ หาดสำราญ โดยมีกันตังเป็นตัวหลัก มีประชากร 80,000 คน  4 ตำบลของย่านตาขาว ประชากร 28,000 คน สิเกาทั้งอำเภอ ประชากร 28,000 คน ฉะนั้นกันตังผมเป็นที่รู้จักแล้ว พอมาถึงการเลือกตั้งครั้งนี้ จึงทำให้เดินได้ง่ายขึ้น และผมเดินโดยใช้แนวทางเดิมมาเป็นปีๆแล้ว คนกันตังลึกๆ เขาอยากจะเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว และ หากผมตั้งใจจริง ไปพบปะเขา เขาจะพิจารณาเปลี่ยนได้ง่ายขึ้น”

@ในเรื่องความสัมพันธ์ครอบครัว เครือญาติ และประเด็นการแข่งขันทางการเมืองระหว่างพรรค จะแยกความสัมพันธ์ตรงนี้กันอย่างไร

ดิษฐ์ธนิน : ผมมองว่าแต่ละคนก็ต้องทำบทบาทและหน้าที่ของพรรค ทางน้าชายของผม(สมชาย โล่สถาพรพิพิธ) ผมก็เข้าใจท่าน เพราะทาง ส.ส.สุณัฐชา เขาก็เป็นผู้แทนและเป็นกรรมการบริหารพรรคด้วย บทบาทของพรรคเขาก็ต้องขับเคลื่อนให้ชัดเจน ถ้าผมตอบในฐานะที่ลงสมัครพรรคภูมิใจไทย ผมก็ต้องขับเคลื่อนให้ดีที่สุด แพ้หรือชนะเป็นอีกเรื่อง ผมคิดว่าหากผมทำดีที่สุด เชื่อว่าทางพรรคจะให้ความสำคัญกับผมในหลายๆบทบาทในครั้งต่อไป

@ในการเลือกตั้งนอกจากตัวผู้สมัคร นโยบายพรรค สรรพกำลังอื่น ที่สำคัฐคือการสนับสนุนจากผู้ใหญ่ของพรรคด้วย

ดิษฐ์ธนิน : ตอนนี้นอกจากที่ผมต้องไปประชุมกับพรรคเดือนละครั้ง ยังต้องมีการประชุมกลุ่มหรือการประชุมย่อยซึ่งจัดที่ จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งทางพรรคให้ความสำคัญ  ในการประชุมย่อยเขาก็คาดหวัง ซึ่งจะพูดถึงรายละเอียดหลายๆ เรื่อง เช่น การวางแผน การเดิน การประสานกับรัฐมนตรีหากมีกิจกรรมที่เห็นว่าจะก่อให้เกิดการพัฒนา หรือสร้างกระแสการท่องเที่ยวในพื้นที่ได้ก็ให้ทำเรื่องส่งไปเพื่อพิจารณา ต้องยอมรับความจริงว่ารัฐมนตรีใดๆ ก็จะไปลงพื้นที่ เพื่อสร้างความนิยมให้พรรค นี่เป็นโอกาส

@เขต 4 ตรัง ภายใต้ความรับผิดชอบของ ดร.นาที รัชกิจปราการ และ นายพิพัฒน์ รัชกิจปราการ ท่านให้ความสำคัญมากแค่ไหน

ดิษฐ์ธนิน : ชัดเจนครับ(เสียงหนักแน่น) ตอนนี้ผมยังได้ร่วมประชุมกลุ่มเล็กซึ่งเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การเลือกตั้งแล้ว อยากให้มองย้อนหลังกับไป 4-5 เดือนก่อน รัฐมนตรีของภูมิใจไทย เช่น นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ , นางกนกวรรณ  วิลาวรรณ จะลงมาจังหวัดตรังบ่อยมาก เกือบจะทุกเดือนด้วยซ้ำ ตรงนี้พรรคภูมิใจไทยเห็นว่า จ.ตรัง ก็เป็นเป้าหมายของพรรค

@ความยาก ง่าย ของเขต 4 ตรัง เป็นอย่างไร

ดิษฐ์ธนิน : ไม่ยากครับ  ความท้าทายคือตอนนี้เนื่องจากว่าเขต 4 มีอำเภอสิเกา ซึ่งถือว่าใหม่สำหรับผม ฉะนั้นอยู่ที่ว่าผมจะมีเวลาลงพื้นที่สิเกามากน้อยแค่ไหน หากผมนำแนวทางของกันตังไปใช้กับสิเกา ก็เชื่อว่าต้องได้ใจคนสิเกา

@เดิมทีที่ภาคใต้เป็นพื้นที่ของพรรคปชป. จ.ตรังเป็นเมืองหลวงของปชป. มีอดีตนายกฯ 2 สมัย และเป็นประธานรัฐสภาคนปัจจุบัน รู้สึกเป็นอุปสรรคไหม

ดิษฐ์ธนิน : การเลือกตั้งครั้งที่แล้วเป็นคำตอบแล้ว ในหลายจังหวัดและ เขต1 ตรัง ก็ได้นายนิพันธ์ ศิริธร จากพลังประชารัฐ ซึ่งก็สะท้อนออกมาด้วย ตอนนี้ผมลงพื้นที่หาเสียงก็ได้บอกกับชาวบ้านว่า ในหลายจังหวัดมีจำนวน ส.ส.หลายคน จากหลายพรรคการเมือง ซึ่งส.ส.จะแย่งกันทำพื้นที่ แย่งกันพัฒนา เพื่อต้องการขยายฐานให้ใหญ่ขึ้น ซึ่งการจะใหญ่ได้ต้องได้ใจประชาชน นี่เป็นโอกาสและเป็นข้อดีของการแข่งขัน  คำว่า “เปลี่ยน” ผมใช้เป็นหัวใจสำคัญของการหาเสียง โดยเขต1 มีการเปลี่ยนไปแล้ว จึงอยากให้ประชาชนเขต 4 เปิดโอกาสให้พรรคอื่นที่เข้ามา เกิดการแข่งขันสูงขึ้น พรรคไหนก็ได้แต่ต้อง “เปลี่ยน”

@ภูมิใจไทยเห็นความสำคัญเรื่องการพัฒนาการท่องเที่ยว แต่จ.ตรัง มีการพูดถึงว่าถูกสาปเรื่องความเจริญไว้นาน ซึ่งต่างจากจังหวัดอื่นในฝั่งอันดามันที่เขามีความเจริญในมิติของภาคท่องเที่ยว คุณดิษฐ์ธนินจะทำอย่างไร

ดิษฐ์ธนิน : ด้วยบทหน้าที่ของผู้แทน ต้องไปว่ากันด้วยเรื่องของกฎหมาย ซึ่งผู้แทนสามารถสะท้อนความต้องการไปยังรัฐมนตรีได้ ยกตัวอย่างระหว่างพัทลุง กับ ตรัง ตรังมีทรัพยากรธรรมชาติทั้งทะเล เขา น้ำตก คำขวัญจ.ตรัง ประกอบด้วยแหล่งท่องเที่ยว แต่เราไม่มีโอกาสประชาสัมพันธ์หรือผลักดันออกมาขาย ให้เป็นเรื่องระดับประเทศ หรือ ระดับโลก เรายังเป็นเมืองรอง

ผมตั้งใจว่าหากได้เป็นผู้แทน ภายใน10ปี จะดันตรังให้เป็นท่องเที่ยวเมืองหลัก หากเราได้เรื่องภาษีบ้านเกิดเมืองนอนมาด้วย ผมคิดว่าเมืองรองจะเติบโตเป็นเมืองหลักได้และตอนนี้เรื่องการท่องเที่ยวได้ผลักดันกิจกรรมที่เกี่ยวกับภูเขา น้ำตก เช่น ปั่นจักรยาน รวมทั้งการขยายถนนจากเส้นที่ผ่านน้ำตกสายรุ้ง – น้ำตกโตนเตะ (หรือ ถนนเส้นบ้านละมอ-ปะเหลียนใน) ตอนนี้ได้งบประมาณมาแล้ว ที่ได้เพราะภูมิใจไทยดูแลทั้งคมนาคม และ ท่องเที่ยว ฉะนั้นการบูรณาการจะง่าย

ท่านพิพัฒน์ รัชกิจประการ ท่านก็ได้เห็นจ.ตรังแล้วว่า เพราะท่านมาบ่อย และตอนนี้ผมเริ่มประชาสัมพันธ์นโยบายพรรค 2 เรื่องที่กล่าวมาข้างต้น  และผมเห็นปัญหาของชาวบ้าน ต.นาเกลือ อ.กันตัง จ.ตรัง เขามีปัญหาเรื่องอาชีพประมง เครื่องมือประมงผิดกฎหมาย ซึ่งชาวบ้านต.นาเกลือ เขาใช้ชีวิตกับทะเล กับอาชีพประมง จึงอยากให้มีการใช้กฎหมายหรือนโยบายที่เขาจะได้ทำมาหากิน แบบประมงยั่งยืน

@ในการแข่งขันทางการเมือง มีการพูดคุยกันว่าคุณดิษฐ์ธนิน มาลงสมัครในเขต 4 ทั้งที่ไม่ใช่คนกันตัง

ดิษฐ์ธนิน : จริงๆแล้วการพูดว่าไม่ใช่คนพื้นที่ มันควรจะเป็นอะไรที่เขตใหญ่มาก ไปมาไม่ถึงกัน ควรจะเป็นคำพูดเมื่อ 30 ปีที่แล้ว แต่ปัจจุบันการสัญจรสะดวก เช่น การสัญจรจากย่านตาขาวมากันตัง ผ่านถนนทุ่งค่าย – ป่าเตียว ระยะทางแค่ 12 กม. ในขณะเดียวกันผมเดินทางจากย่านตาขาวไปอ.สิเกา ใช้เวลาเดินทางแค่ 25 นาที ตอนนี้สายทุ่งค่ายป่าเตียวระยะทาง 12 กม. กว้าง 9 ม. ผมได้นำเรื่องนี้บอกกับผู้ใหญ่ในพรรค ขอให้ขยายเป็น 12 ม. และตอนนี้งบประมาณปี 2566 ผ่านสภาแล้ว ได้งบมา 30 ล้านบาทเพื่อขยายถนน นี่ผมยังเป็นแค่ว่าที่ผู้สมัคร ยังไม่ใช่ผู้แทนเลย แต่สิ่งที่ผมบอกไปยังพรรคฯ เขาก็เห็นถึงความสำคัญ เห็นโอกาส และคุณอยู่กับคนกันตังมากี่สิบปี? แล้วผลเป็นอย่างไร?

@ระหว่างคู่แข่งที่ชื่อ กาญจน์ ตั้งปอง กับ สมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล ประเมินคู่แข่งขันสองคนนี้ไว้อย่างไร

ดิษฐ์ธนิน : (หยุดคิด)ผมเจอใครก็ได้ แต่ผมมองการระหว่างสองคนนี้ มันมีการขึ้นป้ายคู่ สท.กาญจน์ขึ้นป้ายคู่ ส.ส.สุณัฐชา  คุณสมบูรณ์ ขึ้นป้ายคู่ท่านชวน ผมมองประเด็นเดียวว่า 2 คนนี้ ใครที่เอาป้ายลงแล้วเกิดความเสียหายกับพรรคปชป.มากที่สุด ผมมองว่านี่เป็นองค์ประกอบที่ทางพรรคปชป.ต้องคิดด้วย ในส่วนของผมเจอกับใครก็ได้ เมื่อผมคิดมุมมองนี้ ทำให้ผมคาดเดาได้ว่าจะต้องเจอกับใคร ซึ่งผมเก็งคู่ต่อสู้ไว้แล้ว ส่วนเรื่องความขัดแย้งในพรรคปชป.ก็มีเข้าหูทุกวัน ผมได้นำจุดนี้ว่าวิเคราะห์คู่ต่อสู้ ซึ่งปชป.เขาก็มีแนวทางเดินของเขาอยู่ ส่วนผมก็ต้องเดินในแนวทางของภูมิใจไทย ทางพรรคก็ให้การซัพพอร์ตผม ขอให้ขยัน ตั้งใจ จริงใจกับชาวบ้าน ให้ได้ใจชาวบ้านมา

ตรัง

@ความขุ่นเคืองทางการเมืองในอดีตภายในครอบครัวของคุณดิษฐ์ธนิน กับ ตระกูลโล่สถาพรพิพิธ สถานการณ์ตอนนี้เป็นอย่างไร

ดิษฐ์ธนิน : ผมก็พยายามเข้าใจน้าชาย(นายสมชาย โล่สถาพรพิพิธ) ซึ่งเขาก็ต้องทำบทบาทในฐานะพ่อเพื่อลูกสาวของเขาด้วย ซึ่งผมไม่ได้มีประเด็นอะไร และผมก็ได้คุยกับน้าสมชายอยู่บ้าง ส่วนความสัมพันธ์กับญาติคนอื่นๆ เช่น กับนายบุ่นเล้ง โล่สถาพรพิพิธ (นายกอบจ.ตรัง) , นายสมศักดิ์ โล่สถาพรพิพิธ (อดีตสว.) ก็ดีกันครับ

.ผมคิดว่าความเคลื่อนไหวของผมมันเป็นประโยชน์กับทางญาติๆผมหลายๆคน ซึ่งผมเดินหาเสียงผมก็บอกกับชาวบ้านว่าผมเป็นหลานของนายกอบจ.ตรัง ซึ่งเราขายมุมมองอีกมุมว่า หากตอนนี้เรามีนายบุ่นเล้ง เป็นนายกอบจ.แล้ว หากหลานของนายกอบจ.ได้เป็นส.ส.ด้วย การทำงานในระดับจังหวัดและระดับประเทศจะไปในทิศทางเดียวกัน

Share:

Share on facebook
Facebook
Share on pinterest
Pinterest

Social Media

Most Popular

Categories

“นครตรัง”จับมือ “ททท.” จัดงาน “NAKORNTRANG FOOD FIT FUN” กระตุ้นศก. สู่เมืองต้นแบบสุขภาวะ 19-21 ก.ค. ที่สวนทับเที่ยง

ตรัง-“นครตรัง”จับมือ “ททท.” จัดงาน “NAKORNTRANG FOOD FIT FUN” กระตุ้นศก. สู่เมืองต้นแบบสุขภาวะ 19-21 ก.ค. ที่สวนทับเที่ยง

สุดแปลก “คุกกี้กุ้งแห้ง” ถูกใจไม่เน้นหวาน แต่หอมอร่อย อดีตดีไซน์เนอร์สาวย้อนขนมความทรงจำวัยเด็ก หนุนประมงพื้นบ้าน เน้นขายออนไลน์

ตรัง-สุดแปลก “คุกกี้กุ้งแห้ง” ถูกใจสายไม่เน้นหวาน แต่หอมอร่อย อดีตดีไซน์เนอร์สาว ย้อนเมนูขนมความทรงจำในวัยเด็ก ทำจนได้รสชาติความอร่อยที่ลงตัว สนับสนุนประมงพื้นบ้าน เน้นขายออนไลน์ผ่านเพจ

ทัพนักกีฬาไทย-เทศ เรือนหมื่นร่วม “ตรังเกมส์” ครั้งที่ 25 มหกรรมกีฬารร.กีฬาแห่งประเทศไทย 20-29 ก.ค. ชูมาสคอต “พะยูน”

ตรัง-ทัพนักกีฬาไทย-เทศ เรือนหมื่นร่วม “ตรังเกมส์” ครั้งที่ 25 มหกรรมกีฬารร.กีฬาแห่งประเทศไทย ตรังพร้อมเปิดบ้านเป็นเจ้าภาพ 20-29 ก.ค. 19ชนิดกีฬา ชูมาสคอต “พะยูน” ชวนเชียร์ ชวนเที่ยวตรัง

ค้นหาหัวข้อข่าวที่คุณสนใจ

Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors