“ธนกร ศรีสุขใส” เล่ามิติใหม่ “กองทุนสื่อปลอดภัยฯ68” หนุนคนตัวเล็กรวมกลุ่มเครือข่ายเข้มแข็ง ชูสารพัดContentภาคใต้ ทรัพยากร-สิ่งแวดล้อม กู้วิกฤตพะยูน-โลกร้อน


.

ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

.

“ธนกร ศรีสุขใส” เล่ามิติใหม่ “กองทุนสื่อปลอดภัยฯปี68” หนุนคนตัวเล็กรวมกลุ่มสร้างเครือข่ายเข้มแข็ง ชูสารพัด Contentภาคใต้ ทรัพยากร-สิ่งแวดล้อม กู้วิกฤตพะยูน-โลกร้อน สร้างนิเวศสื่อปลอดภัย-สร้างสรรค์ ชี้ช่องรับทุน

.

“การเป็นสื่อที่ดีมันไม่ง่าย ดังนั้นเราต้องทำ 2 อย่าง คือ ช่วยกันรับมือ Content แย่ๆ รวมถึงกลไกการใช้สื่อแย่ๆ ขณะเดียวกันเราต้องช่วยกันสร้างเนื้อหาดีๆ ง่ายที่สุดเช่น สร้างเรื่องราวที่เราประทับใจ เรื่องราวที่เราชอบ เล่าเรื่องดีๆในชุมชน เรื่องราวของประวัติศาสตร์วัฒนธรรมที่ดีงาม เรื่องที่ใกล้ตัวเราเรารู้ดี เรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อม Content ดีๆ คือสามารถทำให้คนที่เคยท้อแท้ในชีวิต สามารถลุกขึ้นต่อสู้ได้ เพราะฉะนั้นเราขอเชิญชวนว่าทุกคนมาสร้าง Content ดีๆไปด้วยกัน กับกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์”

.

หลายคนพูดตรงกันว่า ยุคปัจจุบันนี้ เป็นยุคที่ “สื่อ” มีอิทธิพลต่อสังคมอย่างล้นหลามไปในทุกอณูของสังคม ทั้งเชิงบวกและเชิงลบ

.

การเลือกเสพ “สื่อ” จึงมีความสำคัญ ในแง่ของการเสริมสร้างภูมิต้านทาน ในการ “เลือกรับ” “คัดกรอง” หรือการ “ปฏิเสธรับ” สื่อบางชนิดบางประเภท ที่อาจส่งผลกระทบต่อสังคม

.

.

.

เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดกิจกรรมเวทีส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน 5 ภูมิภาค : “TMF MEDIA PARTNERSHIPS รวมพลังสร้างนิเวศสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์” ครั้งที่ 3 ภาคใต้

.

โดยมุ่งเน้นให้คนในสังคมรวมพลัง ร่วมกันสร้างสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อการรู้เท่าทันสื่อ และเกิดการขับเคลื่อนทางสังคมที่มั่นคงและยั่งยืน

.

ภายในงานได้รับเกียรติจาก นายสกุล ดำรงเกียรติกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง , คุณทรงวุฒิ แสงไฟ, คุณศศวรรณ จิรายุส, คุณวีระพงษ์ กังวานนวกุล ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการมีส่วนร่วมและสร้างเครือข่าย คุณพัชรพร พงษ์ทัดศิริกุล ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อ , ดร.สุธิภรณ์ ตรึกตรอง รองอธิการบดีวิทยาเขตตรัง และ พระอิทธิยาวัธย์ โชติปัญโญ ร่วมงาน ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง จังหวัดตรัง

.

“ดร.ธนกร ศรีสุขใส” ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ บรรยายพิเศษในหัวข้อ “เครือข่ายยุค AI ขับเคลื่อนอย่างไรให้ In trend ตอนหนึ่ง ว่า กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนมีทักษะในการรู้เท่าทันสื่อ สามารถนำองค์ความรู้ไปพัฒนาตนเอง พร้อมทั้งส่งเสริมการผลิตสื่อให้ปลอดภัยและสร้างสรรค์ เป็นประโยชน์ต่อชุมชน และสังคม อีกทั้งยังส่งเสริมให้เกิดการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ โดยการรวมพลังของหน่วยงาน องค์กร ภาครัฐ ภาควิชาชีพ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และประชาชนในทุกภาคส่วน เพื่อสร้างนิเวศสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ไปด้วยกัน เพื่อให้สอดคล้องกับบริบททางสังคมและวัฒนธรรมในยุคที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งมิติด้านสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยีก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว AI เข้ามามีบทบาทในวิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์มากขึ้น ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่มีผลกระทบกับมนุษย์โดยตรง

.

“เราเชื่อมั่นของพลังพลเมืองในการสร้างสื่อที่ดีสร้างสรรค์ปลอดภัย ส่งผลกระทบเชิงบวกได้ เราสามารถสร้างสื่อสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม ได้ด้วยมือของเราเอง ร่วมกันพลังสร้างสรรค์ในการเปลี่ยนแปลงสังคมไปด้วยกัน”ดร.ธนกรกล่าว

.

เป็นถ้อยคำจากปากผู้จัดการกองทุน ที่ย้ำเสมอในทุกเวที ผู้ที่คร่ำหวอดในวงการสื่ออาชีพมาอย่างยาวนาน ที่สะท้อนให้เห็นบริบท พลังขับเคลื่อน และผลกระทบของ “สื่อ” ทั้งในมุมบวกมุมลบ

.

กองบรรณาธิการ www.trangtoday.net ได้รับโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยน และตั้งคำถามต่อนิยมการขับเคลื่อน “สื่อสร้างสรรค์” ตลอดจนแนวทางการส่งเสริมสนับสนุน “คนทำสื่อสร้างสรรค์” ในปี 2568 นำมาเล่าสู่กันฟัง

.

Q : จากการลงมาในพื้นที่ภาคใต้และได้พบกับเครือข่าย มีข้อแนะนำอย่างไรในการทำ Content สร้างสรรค์ต่างๆจากภาคประชาชนถึงศักยภาพในการผลิตสื่อ

.

ดร.ธนกร : พูดง่ายๆว่ากองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เราทำให้เกิดการตระหนักรู้เกี่ยวกับอิทธิพลของสื่อ ว่าทุกวันนี้เราอยู่ในโลกที่ข้อมูลข่าวสารมีบทบาทต่อชีวิตประจำวัน ซึ่งสื่อมีอิทธิพลทั้งทางลบและทางบวก ซึ่งผลกระทบทางบวกอาจจะมี แต่ไม่มากนัก ในขณะที่ผลกระทบทางลบมีค่อนข้างสูงมาก เช่นทุกวันนี้มีคนถูกหลอกจากแก๊งมิจฉาชีพออนไลน์ และการหลอกลวงทางไซเบอร์ในรูปแบบต่างๆ ถูกหลอกให้เชื่อโดยกระบวนการสร้างข่าวลวงข่าวปลอม ในขณะที่การเตรียมตัวเข้าสู่ยุคดิจิตอลของคนในสังคมไทยยังถือว่าค่อนข้างน้อย 

.

กองทุนพัฒนาบทบาทสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์จะส่งเสริมให้พลเมืองไทยทุกคนมีทักษะรู้เท่าทันสื่อ สามารถวิเคราะห์ตีความและแยกแยะได้ ว่าสื่อสิ่งนี้ถ้าเราไปเชื่อมันแล้วจะมีผลกระทบอย่างไร ซึ่งเป้าหมายตรงนี้เรามีเครื่องมือที่ซับซ้อนที่สุด มีหลักสูตรการตรวจสอบข่าวลวงและข่าวปลอม ที่ร่วมกับสำนักข่าว AFPของต่างประเทศ มีหลักสูตรเบื้องต้นสำหรับการรู้เท่าทันสื่อของประชาชนทั่วไป สูตรการรู้เท่าทันสื่อของเด็กระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา จนไปถึงระดับอุดมศึกษา กองทุนมีการถอดหลักสูตรเป็นบทเรียนเป็นองค์ความรู้ที่สามารถนำไปสู่กระบวนการรณรงค์ทางสังคม เป็นเบสิกเบื้องต้นว่าต้องอยู่กับสื่อให้ได้ อยู่อย่างรู้เท่าทัน ไม่ตกเป็นเหยื่อ

.

Q : แล้วสังคมไทยจะอยู่อย่างรู้เท่าทันสื่อได้อย่างไร

.

ดร.ธนกร : แน่นอนว่าการที่เราอยู่กับสื่อแบบตั้งรับอย่างเดียวมันไม่เพียงพอ เพราะในโลกปัจจุบันทุกคนเป็นผู้เข้าสู่สื่อ และเป็นผู้สร้างสื่อ  สามารถพูดได้ว่าวันนี้ใครๆก็เป็นสื่อได้ ที่นึกอยากจะโพสต์ก็โพสต์ได้ นึกอยากจะแชร์ก็แชร์ได้ หรือแม้แต่จะสร้าง Content ก็ทำได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานหรือหลักปฏิบัติที่ดีไม่มีจรรยาบรรณอยากทำแบบไหนทุกคนมีอิสระเสรี ซึ่งแบบนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือทุกคนมีเสรีภาพ โลกในพื้นที่สื่อดิจิตอลเป็นโลกประชาธิปไตย ซึ่งแตกต่างกับโลกยุคเก่าที่พื้นที่สื่อสงวนไว้สำหรับคนชั้นนำ คนที่มีบทบาทหน้าที่โดยตรงหรือกลุ่มธุรกิจเท่านั้น แต่ทุกวันนี้ไม่ว่าคุณจะเป็นใครคุณก็มีพื้นที่ในสื่อดิจิตอล

.

ส่วนข้อเสียที่มาจากทุกคนสามารถผลิตคอนเทนต์ได้คือ เป็น Content ที่หลากหลายมาก แต่ไม่มีอะไรมาเป็นหลักประกันว่าเป็น Content ที่ดี หรือแบบไหนเป็น Content ที่แย่ เราก็เห็นแนวโน้มว่า Content ที่แย่มันมีออกมาอย่างมากมาย ฉะนั้นแล้วเรามีหน้าที่ชวนทุกคนให้มาเป็นผู้สร้างเนื้อหาที่ดี สร้างเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม และสร้างเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเอง ทุกคนสามารถเป็น Content creator ที่มีคุณภาพได้ นโยบายเหล่านี้การกองทุนฯจึงมีเครื่องมือต่างๆและหลักสูตรต่างๆมากมายมหาศาล เช่น อบรมผู้ผลิตระดับต้น ระดับกลาง ระดับสูง มีโครงการ Write creator โครงการบ่มเพาะผู้ผลิตหน้าใหม่ เรามีโครงการสอนให้ผู้สูงอายุรู้จักใช้สื่อสังคมออนไลน์ จะทำให้ทุกคนได้ตื่นตระหนักรู้ว่าหรือมีทั้งบวกและลบ ทุกคนอยากเห็นสื่อมีบทบาทเยอะๆ ก็ต้องช่วยสร้างกัน

.

ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

.

“การเป็นสื่อที่ดีมันง่าย เพียงแค่ไม่ไปทำให้คนอื่นเจ็บช้ำน้ำใจ ไม่สร้างความเสียหาย ไม่สร้างความเข้าใจผิด ไม่ไปใส่ร้ายป้ายสี ไม่ไปบูลลี่คนอื่น การไม่ไปหลอกลวงเอาผลประโยชน์ ดังนั้นเราต้องทำ 2 อย่าง คือ ช่วยกันรับมือ Content แย่ๆ สื่อแย่ๆ รวมถึงกลไกการใช้สื่อแย่ๆ ขณะเดียวกันเราต้องช่วยกันสร้างเนื้อหาดีๆ อย่างง่ายที่สุด เช่น การสร้างเรื่องราวที่เราประทับใจเรื่องราวที่เราชอบ เล่าเรื่องดีๆในชุมชน เล่าเรื่องสินค้าดีในชุมชน เรื่องราวของประวัติศาสตร์วัฒนธรรมที่ดีงาม เรื่องที่ใกล้ตัวเราเรารู้ดี เรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อม เรื่องพวกนี้เราอยู่ในพื้นที่อาจจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องธรรมดา ในขณะที่หากเราเล่าให้คนนอกฟัง คนข้างนอกก็อาจจะทึ่ง  Content ดีๆคือสามารถทำให้คนที่เคยท้อแท้ในชีวิต สามารถลุกขึ้นต่อสู้ได้ เพราะฉะนั้นเราขอเชิญชวนว่าทุกคนมาสร้าง Content ดีๆไปด้วยกัน”

.

Q : การที่กองทุนฯจัดเวทีสัญจรไปทุกภูมิภาค มีแนวคิดอยากสื่อสารอะไรกับสังคม

.

ดร.ธนกร : ก่อนที่เราจะมาตรังเราได้ไปจังหวัดจ.ร้อยเอ็ดและจ.พิษณุโลกมาก่อน และเราเพิ่งจะเสร็จสิ้นจากเวทีภาคตะวันตกและภาคตะวันออก ซึ่งทั้งหมดจะจัดเป็นเวที 5 ภูมิภาค เราไปจัดตามภูมิภาคต่างๆ ก็เพื่อจะบอกเล่าว่ากองทุนฯทำอะไรบ้าง  นอกจากนี้ ประชาชน เครือข่าย องค์กรภาคประชาชน หรือแม้แต่หน่วยงานต่างๆ ก็สามารถมีส่วนร่วมกับเรา ตั้งแต่ การร่วมรับรู้ในสิ่งที่เราทำ ร่วมรณรงค์ไปกับเรา ร่วมเป็นเครือข่ายของเรา เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เรามี ตลอดทั้งร่วมสนับสนุนกองทุนในกลไกต่างๆ โดยเราจะมีทุนที่จะจัดสรรให้ประชาชนทั่วไป องค์กรต่างๆ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ซึ่งหากจะขอทุนก็ต้องเขียนโครงการ ประเภทโครงการมีกี่โครงการ เป้าหมายของกองทุนเมื่อให้ทุนไปแล้วว่าต้องการอะไร ซึ่งเราไปแลกเปลี่ยนและรับฟังความคิดเห็น แนวคิดของกองทุนฯ รวมทั้งผลการดำเนินงานของกองทุนว่าเป็นอย่างไร

.

ประเด็นความสำคัญที่เราได้ลงไปพบในพื้นที่ภาคใต้ เราได้ถามที่จ.ตรังว่า ประเด็นความสำคัญที่กองทุนฯควรจะให้ทุนเป็นประเด็นอะไรมากที่สุด ซึ่งภาคเหนือและอีสานตอบตรงกันว่า เป็นประเด็นทางวัฒนธรรม แต่ทางภาคใต้ตอบว่าประเด็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว เราถามว่าประเด็นปัญหาที่เกิดจากสื่อประเด็นอะไรสำคัญที่สุด ภาคเหนือและภาคอีสานตอบว่าเรื่องของการหลอกลวงออนไลน์เป็นประเด็นสำคัญสุด แต่ทางภาคใต้ตอบว่าเป็นปัญหาข่าวปลอมหรือ Fake news สำคัญที่สุด ซึ่งพอจะสรุปได้ว่า คนใต้รับมือกับการถูกหลอกออนไลน์ได้ แต่กังวลกับข่าวปลอมหรือเฟกนิวส์ ซึ่งคนใต้มองว่าข่าวปลอมหรือเฟกนิวส์ ที่สร้างมาส่วนใหญ่มีวัตถุประสงค์ทางการเมือง ซึ่งมีทั้งภาพข้อความบิดเบือน ภาพตัดต่อ มาจากกลุ่มการเมืองโดยตรง หรือกลุ่มสนับสนุนการเมือง เป็นประเด็นที่คนใต้เป็นกังวลและห่วงใย ซึ่งเราลงพื้นที่มีทั้งการนำเสนอข้อมูลและรับข้อมูลกลับมา ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์มาก

.

Q : มิติของภาคใต้จะใช้คำจำกัดความแบบไหน

.

ดร.ธนกร : ระบบนิเวศน์สื่อเราต้องการให้คนอยู่กับสื่อได้ โดยไม่ตกเป็นเหยื่อ วันนี้เรากังวลเรื่องฝุ่น PM 2.5 แต่เมื่อถึงเวลาที่ฝุ่นมาจริงๆ เราไม่มีหน่วยงานไหนที่สามารถขจัดปัญหานี้ได้ ซึ่งฝุ่นเหล่านี้มันหมดไปเองตามฤดูกาลตามสภาพแวดล้อม แต่หากย้อนถามกลับว่าช่วงที่มี PM 2.5 เราต้องออกจากบ้านไหม เราต้องใส่หน้ากากป้องกันตัวเองใช่ไหม ดังนั้นก็เหมือนกับการที่เราอยู่ในโลกของสื่อสังคมออนไลน์ เราห้ามยากมากที่จะไม่ให้มีข้อมูลข่าวสารเชิงลบ แต่หากคุณตระหนักรู้เท่าทัน ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ ไม่แชร์อะไรออกไปง่ายๆ บางครั้งไม่ทำอะไรแย่ๆด้วยตัวเอง ก็เหมือนกับเราเดินผ่านฝุ่นหรือกองขยะ แต่เรามีหน้ากาก มีชุดป้องกัน สภาพแวดล้อมแย่ๆจึงไม่สามารถทำอะไรเราได้ เราคิดหวังไปไกลกว่านั้นเราอยากสร้างสมดุลเราอยากสร้างอากาศที่บริสุทธิ์ เพื่อไปรับมือกับฝุ่น PM 2.5 หมายความว่าในขณะที่ Content แย่ๆมีมากมายมหาศาล เรามารวมพลังกันแต่ละคนช่วยกันสร้าง Content ดีๆ ในแพลตฟอร์ม facebook และ tiktok หากตั้งธงไว้ว่าตัวเองจะเป็น Content creator ที่สร้างแต่เรื่องราวดีๆ สร้างสรรค์ เราเชื่อว่าจะเกิดสมดุลในข้อมูลข่าวสาร สมดุลในระบบนิเวศน์ของสื่อ นั่นเป็นเป้าหมายเชิงอุดมการณ์ของเรา

.

Q จากที่กองทุนฯซาวน์เช็คแล้วพบว่าคนใต้มีความสนใจเรื่องการท่องเที่ยว และ ข่าวปลอม ซึ่งหากแตกประเด็นออกไปแล้วควรจะต้องทำสื่อสร้างสรรค์ในรูปแบบไหน

.

ดร.ธนกร : เช่น ท่องเที่ยวเชิงเกษตร เที่ยวเชิงนิเวศน์ ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ท่องเที่ยวเชิงชุมชน ที่เน้นขายสตอรี่ ไม่ได้เน้นขายเฉพาะวิวทิวทัศน์หรือความสวยงามเพียงอย่างเดียว เรามองเห็นเสน่ห์ถึงความเป็นคนใต้ ความมีน้ำใจ แม้พูดภาษาอังกฤษไม่ได้แต่สื่อสารได้ หากเราได้เข้าไปในหมู่บ้านหนึ่งได้ไปสนทนาธรรมกับใครสักคน มันทำให้เราได้อิ่มเอิบหัวใจ เหมือนเราได้ไปฟังดนตรีดีๆ ทานอาหารดีๆ ตนได้สื่อสารไปยังรัฐบาลเสมอว่าประเทศไทย มีต้นทุนทางวัฒนธรรมที่ดีมาก และมีจำนวนมากมายมหาศาล เราไม่มีความจำเป็นที่จะต้องส่งเสริมการท่องเที่ยวที่หวังมุ่งเน้นเชิงปริมาณ วันนี้เรามีนักท่องเที่ยวปีหนึ่งประมาณ 37 ล้านคน เราไม่จำเป็นต้องไปตื่นเต้นดีใจกับตัวเลขจำนวนมากมายมหาศาลเหล่านี้ เราอาจจะถอยกลับมาว่า ควรมีนักท่องเที่ยวปีหนึ่งประมาณ 30 ล้านคนก็พอแล้ว แต่เป็น 30 ล้านคนที่มีคุณภาพ บางพื้นที่เราไม่จำเป็นต้องเปิด Open จนไร้ขีดจำกัด เราหันมาทำแบบให้เกิดคุณค่าให้เกิดการสงวนรักษา เช่นเกาะลิบงตอนนี้เริ่มบูม ต่อไปหากใครจะเข้าเกาะลิบงต้องจองล่วงหน้า เป็นต้น เพราะที่นี่มีความเรียบง่าย อาหารก็เป็นอาหารออแกนิคที่มาจากชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งหากเราเน้นปริมาณอย่างเดียว วันหนึ่งทุกอย่างจะเละไปหมดเลย

.

.

ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

.

Q ตอนนี้ภาคใต้เผชิญกับวิกฤตความเสื่อมโทรม เช่น พะยูน หญ้าทะเล ทรัพยากรธรรมชาติ อุทกภัย จากปรากฎการณ์ลานีญา เอลนีโญ การจะผลิตสื่อท่องเที่ยวที่มีการสอดแทรกสะท้อนปัญหาเหล่านี้ด้วย ต้องทำอย่างไร

.

ดร.ธนกร : สามารถทำได้และเป็นที่น่าดีใจ เมื่อปี 2567 เรามีโครงการอยู่ 2 โครงการ คือ 1.โครงการเรื่องพะยูน เล่าถึงของสภาพแวดล้อมที่กระทบต่อการดำรงชีวิตของพะยูน และ 2.เป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมทางทะเล ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆที่กองทุนได้ทำงานร่วมกับผู้ขอทุนที่เข้าใจปัญหาในพื้นที่จริง ซึ่งต่อไปเราก็จะลงไปทำกิจกรรมร่วมกัน และนโยบายของปี 2568 ก็เช่นเดียวกัน เราอยากจะเปิดกว้างมากขึ้น ที่จะใช้สื่อในการขับเคลื่อนและรณรงค์ในการแก้ปัญหาเชิงพื้นที่ตรงนี้ เราอยากทำมากขึ้น

.

Q ในมิติกองทุนสื่อฯที่มีบทบาทให้การสนับสนุนเครื่องมือกับคนตัวเล็กตัวน้อยในการผลิตสื่อสร้างสรรค์ กองทุนฯ อยากฝากอะไรไปถึงการทำงานของกลุ่มคนเหล่านี้บ้าง ในเรื่องความคิดสร้างสรรค์ผลงาน และการพัฒนาศักยภาพในการสื่อสาร

.

ดร.ธนกร : นอกจากเราจะให้กำลังใจแล้ว เรายังคิดวิธีการให้ด้วย อย่างเช่น อยากให้คนเล็กคนน้อยในแต่ละภูมิภาคเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย เชื่อมโยงกันได้แล้วก็จะได้แบ่งกันตามความถนัดของแต่ละคน เราอยากเห็น Content ที่หลากหลายเช่น Content ทางศิลปะ , Content ทางการท่องเที่ยว เป็นต้น เพราะคนเล้กคนน้อย ที่ผ่านมาแต่ละคนใช้เงินจำนวนน้อยมาก แล้วเมื่อรวมกันเป็นเครือข่าย เราอยากให้มีองค์กรกลางขึ้นมาสัก 1 องค์กร ในนามตัวแทนชมรม สมาคม มูลนิธิ มาทำความร่วมมือ หรือ MOU แล้วกองทุนฯจะได้หารือกันว่าจะจัดสรรเป็นทุนประเภทความร่วมมือจะได้หรือไม่ หากคนเล็กคนน้อยต่างคนต่างมาขอ ก็อาจเกิดข้อจำกัด และมีการจัดการที่ทำได้ยาก ซึ่งหลักการนี้น่าจะเป็นทางออกหนึ่ง ในชั้นต้น

///

Share:

Share on facebook
Facebook
Share on pinterest
Pinterest

Social Media

Most Popular

Categories

เปิดยิ่งใหญ่ “เทศกาลลูกลม ชมถ้ำ เรียนรู้วัฒนธรรมนาหมื่นศรี” 5-9 มี.ค. สืบตำนานตรังนา-ลุ่มน้ำกสิกรรมโบราณคลองนางน้อย

ตรัง-เปิดยิ่งใหญ่ “เทศกาลลูกลม ชมถ้ำ เรียนรู้วัฒนธรรมนาหมื่นศรี” 5-9 มี.ค.นี้ สืบสานภูมิปัญญาตรังนา ลุ่มน้ำกสิกรรมโบราณ “ลุ่มน้ำคลองนางน้อย”  

“OKMD” จับมือ “ธนาคารออมสิน” พัฒนามุมความรู้ทักษะวางแผนการเงิน-ติดอาวุธทางปัญญา ให้เด็กและเยาวชนบนเกาะลิบง

ตรัง-“OKMD” จับมือ “ธนาคารออมสิน” พัฒนามุมความรู้บนเกาะลิบง ให้ความรู้ ทักษะ วางแผนการเงิน ติดอาวุธทางปัญญาให้เด็กและเยาวชน

ค้นหาหัวข้อข่าวที่คุณสนใจ

Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors