.
.
ตรัง-หนึ่งเดียวในไทย ขบวนรับเจ้าสาวชาวไทยมุสลิม ในงาน “ย้อนวันวานเมืองเก่าตรัง” ท่าข้าม-หยงสตาร์-ทุ่งยาว สุดครึกครื้น ชิมแกง 4 กษัตริย์-ขนมซีด่ะ โรแมนติกชมพระอาทิตย์ตกทะเล สีสันประธานหมุนเครื่องเรือเปิดงาน จัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-13 เมษายน 2567 ที่แหลมหยงสตาร์ ตำบลท่าข้าม อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง
.
เมื่อช่วงค่ำวันที่ 11 เมษายน 2567 ที่แหลมหยงสตาร์ ตำบลท่าข้าม อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง นายบุ่นเล้ง โล่สถาพรพิพิธ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง เป็นประธานในพิธีเปิดงานส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองเก่าท่าข้าม-หยงสตาร์-ทุ่งยาว ตามโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองเก่าตรัง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยว และบริการ ในพื้นที่ชุมชนเมืองเก่าจังหวัดตรัง ให้กลับมาคึกคักอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังเป็นการประชาสัมพันธ์ กิจกรรมการท่องเที่ยว เมืองเก่าตรัง ให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น ทั้งยังเป็นการร่วมกันอนุรักษ์เมืองเก่า และสืบทอดวัฒนธรรมอันเก่าแก่ของจังหวัดตรัง ให้คงอยู่ คู่กับจังหวัดตรังต่อไป และเพื่อกระจายรายได้สู่ฐานราก ตามนโยบายของรัฐบาล โดยไฮไลท์พิธีเปิดได้นำเครื่องยนต์เรือหางยาวของชาวประมงมาให้ประธานหมุนติดเครื่อง เพื่อแสดงวิถีชาวประมงแหลมหยงสตาร์อีกด้วย
.
.
.
ทั้งนี้ การจัดงาน “ย้อนวันวานเมืองเก่าท่าข้าม-หยงสตาร์-ทุ่งยาว” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-13 เมษายน 2567 ที่แหลมหยงสตาร์ ตำบลท่าข้าม อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง ซึ่งเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกที่งดงาม ภายในงานมีร้านค้าในท้องถิ่น และ ร้านค้าทั่วไป รวมกว่า 100 ร้าน ทั้งยังมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นตลอดการจัดงาน การสาธิตอาหารพื้นถิ่น เช่น แกงขาวเนื้อ แกงคั่วเครื่องปลา ขนม ซีด่ะ รวมทั้งนิทรรศการเมืองเก่าท่าข้าม-หยงสตาร์-ทุ่งยาว อีกด้วย สำหรับกิจกรรมหาชมยากในงานเมืองเก่าครั้งนี้ มีการแสดงขบวนแห่ตามประเพณีโบราณ “ขบวนรับเจ้าสาวกลับบ้านเจ้าบ่าว” ที่ได้จำลองพิธีแต่งงานของชาวไทยมุสลิม โดยในขบวนประกอบด้วยขบวนกลองมลายู รองเง็ง คู่บ่าวสาว ที่แต่งการด้วยเครื่องแต่งการสีสันสดใสสวยงาม พร้อมนางรำสนุกสนาน ได้รับความสนใจจากผู้ร่วมงานเป็นจำนวนมาก
.
.
เรือเอก พัฒน์พงษ์ คงผลาญ ประธานวิสาหกิจชุมชนย่านชุมชนเมืองเก่าตันหยงสตาร์ เปิดเผยว่า ในงานมีการสาธิตอาหารประจำถิ่นของชาวหยงสตาร์ ทั้งอาหารคาว อาหารหวาน ที่ถือว่าเป็นแกง 4 กษัตริย์ คือ แกงขาวเนื้อ แกงคั่วเครื่อง แกงตูมี่ และแกงคั่วเครื่องหวาน วันนี้ที่นำแกงขาวเนื้อ แกงคั่วเครื่องปลากระมง และ ขนมซีด่ะ ซึ่งความพิเศษในปีนี้ยังมีการสาธิตขบวนรับเจ้าสาวกลับบ้าน นำโดยขบวนกลองมลายู มีเจ้าบ่าวเจ้าสาวร่วมมาในขบวน ในอดีตเมื่อถึงวันแต่งงานมีการเลี้ยงอาหารแขกเหรื่อ เจ้าบ่าวก็จะพักค้างคืนที่บ้านเจ้าสาว เมื่อถึงวันรุ่งขึ้นก็จะจัดขบวนพาเจ้าสาวกลับบ้านเจ้าบ่าว ซึ่งถือว่าประเพณีถือเป็นหนึ่งเดียวในไทย ส่วนการแต่งกายของขบวนแห่จะสวมใส่ชุดพื้นเมืองมลายู รวมทั้งขบวนรองเง็งของชาวหยงสตาร์ที่มีจังหวะดนตรีไม่เหมือนที่ไหนอีกด้วย ในปัจจุบันขบวนแห่เจ้าบ่าวเจ้าสาวยังมีให้เห็นโดยทั่วไป แต่ขบวนรับเจ้าสาวกลับบ้านเจ้าบ่าวมีให้เห็นน้อยมาก ส่วนรองเง็งนั้นเราได้นำเอาเด็กเยาวชนและผู้สนใจมาฝีกที่วิสาหกิจชุมชนย่านชุมชนเก่าตันหยงสตาร์ เพื่อสืบสานศิลปะประเพณีให้คงอยู่ โดยในงานยังมีการจัดนิทรรศการชุมชนเก่า มีการจำหน่ายอาหารพื้นบ้าน ขนมตาหยาบ อาหารแปรรูป เป็นต้น บรรยากาศในงานอยู่ชายทะเล ลมพัดเย็นสบาย สามารถมองประอาทิตย์ตกน้ำได้อย่างสวยงาม
.
.
.
.
นางสมจิตร หีมหล๊ะ อายุ 61 ปี ชาวบ้าน หมู่ 7 บ้านหยงสตาร์ ตำบลท่าข้าม อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง กล่าวว่า ขนมซีด่ะเป็นขนมโบราณ มีอายุราว 70 ปีมาแล้ว ตนได้รับประทานมาตั้งแต่เด็ก ๆ มีวัตถุดิบหลักคือแป้งสาลี น้ำตาลทราย และเกลือ ชาวตันหยงสตาร์จะใช้ในงานบุญหรืองานรื่นเริง รวมทั้งเป็นขนมหวานของว่าง เป็นสูตรที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ เป็นขนมที่เป็นที่ชื่นชอบของเด็กและผู้ใหญ่ โดยสูตรเดิมจะไม่มีสีสันแต้เพื่อให้เข้ากับยุคสมัย จึงนำสีของดอกอัญชัน สีของใบเตย มาสร้างสีสันให้ดูน่ารับประทาน ซึ่งดอกอัญชันเป็นสมุนพื้นบ้านมีสรรพคุณบำรุงผมและสายตา ส่วนใบเตยมีสรรพคุณบำรุงหัวใจ โดยปกติขนมซีด่ะขายราคาชิ้นละ 5 บาท มีจำหน่ายที่หน้ามัสยิดตันหยงสตาร์
.
สำหรับชุมชนเมืองเก่าท่าข้าม-หยงสตาร์–ทุ่งยาว เป็นชุมชนพหุวัฒนธรรมมีทั้งชาวไทยเชื้อสายจีน ชาวไทยมุสลิม และชาวไทยพุทธ อยู่ร่วมกันมาช้านาน และเป็นเมืองท่าโบราณ เรื่องราวของวัฒนธรรมจึงมีการผสมผสานกัน อาหารการกินมีความหลากหลาย มีทั้งอาหารคาวหวาน อาหารมงคลตามคติความเชื่อตามแบบชาวไทยเชื้อสายจีน ชาวไทยมุสลิม และไทยพุทธอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน
.
ภาพ