เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ในความทรงจำสีจางๆของ วิกหนัง “ตรังรามา”
กับกระแสนิยมความบันเทิงที่เปลี่ยนไปของผู้คน
คนโรงหนัง คนเขียนป้าย เล่าเรื่อง เมืองวิกหนัง ความผูกพันธ์ “ตรังรามา” คู่คนตรังกว่า 40 ปี สะท้อนความความรุ่งเรืองของศิลปะ บันเทิง เศรษฐกิจ บนแผ่นดินเมืองยาง ศิลปินชาวตรัง ทายาทโรงหนังควีนส์รามา-ที่ปรึกษาหอภาพยนต์แห่งชาติฯ เล่าเรื่องความผูกพัน เป็นแรงบันดาลใจให้คนรักงานศิลปะ สะท้อนความรุ่งเรืองของตรังในอดีต ตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ถือเป็นความมหัศจรรย์ อยู่ได้นานถึง 40 ปี พ.ศ.2514-2554 เป็นโรงแรกที่อายุยืนยาวที่สุด จนถึงวันที่(อาจ) ต้องทุบทิ้ง
เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เป็นสัจธรรมที่เกิดขึ้นกับทุกสรรพสิ่ง แม้แต่ในความทรงจำสีจางๆของ วิกหนัง “ตรังรามา” ก็เช่นกัน
สาเหตุจากการที่เอกชนเจ้าของอาคาร ต้องแบกรับภาระในการดูแล ตลอดจนอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่มีการคำนวณในอัตราใหม่ทั่วประเทศ ทำให้ที่ดินที่มีอาคารร้างไม่ได้ใช้ประโยชน์ต้องจ่ายภาษีแพงมาก ซึ่งเป็นภาระแก่เจ้าของอาคาร อีกทั้งตลอดเวลาที่ผ่านมา ไม่มีผู้ติดต่อขอเช่าต่อ เนื่องจากอาคารได้ถูกออกแบบไว้สำหรับเป็นโรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่ถึง 800 ที่นั่ง
กระแสการทุบทิ้งโรงหนังตรังรามาจึงเป็นที่พูดถึงอย่างแพร่หลาย ทั้งในกลุ่มช่างภาพและศิลปินในจังหวัดตรัง มีการนำภาพของโรงหนังตรังรามาอดีตในแต่ละมุมมองแต่ละช่วงเวลา มาโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กและแฟนเพจกันอย่างแพร่หลาย
หลังจากเกิดกระแสที่จำเป็นต้องทุบทิ้ง “โรงภาพยนตร์ตรังรามา” หรือที่ชาวปักษ์ใต้โดยเฉพาะชาวตรังเรียกกันติดปากว่า “วิกหนัง” หรือ “วิกตรังรามา” ซึ่งเป็นโรงหนังเก่าแก่ที่เหลืออยู่เพียงแห่งสุดท้ายของจังหวัดตรัง แม้จะปิดกิจการมานานหลายปีแล้วจากสภาพของธุรกิจโรงหนังที่ซบเซาไปตามกาลเวลา โดย “วิกตรังรามา” ถือเป็นอาคารเก่าที่ทรงคุณค่าในทางสถาปัตยกรรม และความทรงจำแห่งเรื่องราวของชาวตรังหลายต่อหลายรุ่น โดยเป็นสถาปัตยกรรม แบบอาร์ท เดคโค่ (Art Decoration) เป็นอิทธิพลการออกแบบก่อสร้างจากแนวคิดชาติตะวันติในยุคเรเนซองส์(Renaissance ) ที่เข้ามาในประเทศไทย อันจะเห็นสถาปัตยกรรมแบบแบบอาร์ท เดคโค่ อยู่ในหลายแหล่งสถาปัตยกรรมในจังหวัดตรัง เช่น สมาคมฮากกา ธนาคารกรุงเทพ สาขาสี่แยกสถานี เป็นยุคใกล้เคียงกันกับตรังรามา เป็นอิทธิในการออกแบบอาคารสาธารณะซึ่งเป็นที่นิยมกันในสมัยนั้น ทั้งนี้ อาคารตรังรามา มีความโดดเด่นที่ชัดเจน มีโครงสร้างเป็นเสาสูงชะลูดขึ้นไปรับน้ำหนักหลังคาแบบเรียบ และ มีหลังคาหน้าจั่วซ่อนอยู่ด้านใน เด่นตระหง่านสวยงาม จุผู้ชมได้ถึง 800 ที่นั่ง สะท้อนสภาพเศรษฐกิจที่คึกคัก และรสนิยมการเสพสิ่งบันเทิงของผู้คนในอดีต
ทั้งนี้ “วิกหนังตรังรามา” เปิดกิจการตั้งแต่ปี 2514 และมาปิดตัวลง โดยฉายหนังเรื่องสุดท้าย ไปเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2554 รวมระยะเวลา 40 ปีเต็ม ซึ่งระยะเวลาดำเนินกิจการที่ยาวนาน ทำให้ชาวตรังรุ่นแล้วรุ่นเล่า ล้วนมีความผูกพันกับ “วิกหนังตรังรามา” แม้จะเลิกกิจการไปแล้ว แต่ตัวอาคารวิกหนังที่สวยงาม และเป็นเอกลักษณ์ ยังคงตั้งตระหง่านอยู่กลางเมือง
.
นายโฆษิต มัธยวีรเกียรติ หรือ โกเต็ก อายุ 77 ปี ช่างวาดป้ายคัตเอาท์หนังรุ่นแรกของจังหวัดตรัง ซึ่งมีลูกศิษย์ลูกหามากมาย กล่าวว่า ตนวาดภาพโรงหนังเฉพาะตรังรามามา 10 ปี แต่วาดมาก่อนแล้วที่โรงหนังอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น วิกคิงส์ , วิกควีนส์ , วิกศรีเมือง , วิกลิโด ฯลฯ ย้อนกลับไป เมื่อตรังรามาก่อสร้างเสร็จวิกศรีเมืองก็ได้เข้ามาเช่าดำเนินกิจการ ยุคแรกที่เปิดโรงหนังตรังรามา คนที่มาดูหนังมีไม่มากเท่าไหร่ แต่หลังจากนั้นไป 1-2 ปี ตรังรามาได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ยิ่งเมื่อมีโปรแกรมหนังใหญ่ ๆ คนจะมาดูกันมาก โดยเฉพาะช่วงงานเฉลิมพระชนมพรรษาฯของในหลวงรัชกาลที่ 9 คนดูจะติดตามดูหนังจากผลงานพากย์ ของนักพากย์หนังที่มีชื่อเสียง เช่น “กรรณิการ์ อัมรา” และ “เริงชัย ช่อทิพย์” เป็นต้น
“เมื่อรู้ข่าวว่าจะมีการทุบโรงหนังตรังรามาทิ้ง ผมก็รู้สึกเสียดาย แต่จะทัดทานอะไรได้ เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป เพราะในยุคนี้คงไม่มีใครมาเช่าดำเนินกิจการต่อแล้ว คนสมัยนี้หันไปเสพสื่อบันเทิงออนไลน์กันหมดแล้ว ในอดีตคนจะชื่นชอบการดูหนังโรง เพราะยุคนั้นไม่มีแหล่งบันเทิงอื่น บรรยากาศโรงหนังคึกคัก คนที่มีแฟนจะชวนแฟนมาดูหนัง หรืออาศัยนัดพบกันที่โรงหนัง ซึ่งแตกต่างจากสมัยนี้ ที่การสื่อสารมีหลายรูปแบบ คนรักกัน หรือ คนที่เป็นแฟนกัน จะติดต่อพูดคุยกันทางโทรศัพท์ ในอดีตตรังเป็นเมืองที่เศรษฐกิจดี ยางพาราราคาดี จึงทำให้โรงหนังผุดขึ้นในจังหวัดอย่างมากมาย” โกเต็กเล่าย้อนกลับไป
นายโฆษิตกล่าวต่อว่า ยุคเฟื่องฟูของโรงหนังตรังรามา มีคนดูแห่มาดูหนังจากทั่วสารทิศ จากทุกอำเภอ และจังหวัดใกล้เคียง ยิ่งช่วงงานเหลิมฯ(งานเฉลิมพระชนมพรรษาฯ) จะมากกว่าปกติ เพราะตรังรามาจะมีหนังฉายมากสุดถึง 3 เรื่อง และซ้ำหลายรอบต่อวันในช่วงงานเหลิมฯ ในขณะที่รถแห่ประชาสัมพันธ์หนังที่จะฉาย จะตระเวนไปทุกอำเภอของจังหวัดตรัง และจังหวัดใกล้เคียง ทั้ง นครศรีธรรมราช , พัทลุง และกระบี่
ด้านศิลปินนักวาดภาพอิสระชาวตรัง อย่าง อาจารย์จิระพัฒน์ เกิดดี อายุ 47 ปี บอกว่า รู้สึกเสียดายปนใจหาย เมื่อรู้ว่าตรังรามาจะถูกทุบ เพราะตัวเองเริ่มเรียนวาดภาพจากโรงหนังแห่งนี้ และหลังจากนี้ก็จะวาดภาพสตอรี่ของตรังรามาก่อนจะมีการรื้อถอนออกเผยแพร่
“ผมรู้สึกใจหาย เสียดายมาก เพราะผมกำลังจะทำสตอรี่ภาพเขียนเกี่ยวกับตรังรามาออกแสดง เมื่อปี 2537 ผมเริ่มเรียนวาดรูปที่ตรังรามา ต่อมาเริ่มวาดภาพคัทเอาท์หนัง วาดเฉพาะหนังที่ไม่ดัง หนังฝรั่งที่ไม่ใช่โปรแกรมยักษ์ เข้าแค่ 2-3 วันก็ออกจากโรง ส่วนหนังที่ดัง ๆ อาจารย์ของผมจะเป็นคนวาด นอกจากจะวาดคัทเอาท์แล้ว ผมยังเป็นเด็กเดินตั๋วหนังด้วย ใช้ชีวิตแบบกินนอนอยู่ในโรงหนังตรังรามา ได้เห็นถึงความรุ่งเรือง โรงหนังเป็นตัวแทนแห่งความรัก คนที่มีแฟนจะพากันไปดูหนัง หลายต่อหลายคู่พบรักกันที่โรงหนัง เป็นความเวลาที่มีความสุขของผู้คนในยุคนั้น ในหนึ่งปีพ่อแม่ต้องจูงลูกจูงหลานมาเที่ยวงานเหลิมฯ และต้องดูหนังร่วมกันปีละครั้ง วัยรุ่นสมัยก่อนใช้โรงหนังเป็นจุดนัดพบ แม้จะไม่ไปดูหนัง แต่ได้นัดเจอทานข้าว ทานขนมกันที่หน้าโรงหนัง มันเป็นความโรเมนติกของยุคสมัย ยุค 70 , 80 , 90 และโรงหนังมีอิทธิพลต่อเด็กที่ชอบศิลปะ ได้แรงบันดาลใจจากป้ายคัทเอาท์ขนาดใหญ่ ทำให้รู้สึกว่าอยากวาดภาพแบบนี้” อาจารย์แมวเล่าความทรงจำถึงวิกหนังแห่งสุดท้าย
.
ขณะที่ นายวิวัย จิตแจ้ง ที่ปรึกษาหอภาพยนตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ทายาท โกเว้ง จิตแจ้ง เจ้าของวิกหนังควีนส์ วิกหนังเก่าแก่อันดับต้นๆในตรัง(ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลราชดำเนิน เล่าว่า ตั้งแต่อดีตผู้คนเมืองตรังนิยมดูภาพยนตร์มาตลอด ราคาดูหนังถูก และสามารถให้ความบันเทิงได้มาก ครอบครัวผมเป็นผู้บุกเบิกโรงหนังโรงแรกของจังหวัดตรัง ตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เราก็ทำมาโดยตลอด ส่วนตรังรามาเริ่มประมาณ พ.ศ.2514 และเป็นโรงหนังที่ประสบความสำเร็จสูงสุด เพราะเจ้าของเข้าใจศิลปะบันเทิง เลือกหนังหลากหลาย ทั้งหนังไทย หนังฝรั่ง หนังจีน มีการพัฒนาคุณภาพเป็นระบบสเตอริโอ ซึ่งแต่ก่อนหนังจะฉายเป็นระบบโมโน ระบบสเตอริโอถ้าเป็นเสียงซาวด์แทร็ก จะชัดเจนมาก คนดูจึงติดตรังรามา แม้ว่าเมื่อก่อนจะมีหลายโรงหนัง แต่เมื่อมีตรังรามาชาวตรังก็แห่มาดูกัน และตรังรามาในยุคนั้นมีความทันสมัยสุดในภาคใต้อีกด้วย
ที่ปรึกษาหอภาพยนตร์แห่งชาติ เล่าต่ออีกว่า มีค่ายหนังที่ให้การสนับสนุนโรงหนังตรังรามาเยอะ หนังทุกค่ายจึงมีฉายที่ตรังรามา และนักพากย์ดังๆก็มาพากย์ที่ตรังรามาทั้งนั้น เช่น “ชัยเจริญ ดวงพัตรา” และทุกครั้งที่ คุณชัยเจริญพากย์ ฉากเปิดบนจอภาพยนตร์จะต้องขึ้นชื่อของเขา นอกจากนี้ตรังรามาเน้นคุณภาพการเขียนภาพ เน้นการเขียนศิลปะ ภาพคัทเอาท์หน้าโรงหนัง เขาจะเขียนขนาดใหญ่มาก รถแห่มีความสวยงามทุกคัน เมื่อออกแห่หนังจะเปลี่ยนทุกสัปดาห์ แม้การลงทุนด้านศิลปะ จะมีค่าใช้จ่ายสูง แต่อาศัยว่ามีคนดูมาก ผู้คนในอำเภอต่างๆ เหมารถมาดู ในขณะที่โรงหนังอื่นๆทยอยปิดตัว เพราะคนนิยมโรงใหม่ สิ่งใหม่
.
“โรงหนังตรังรามาเขาทำอย่างจริงจัง เป็นอาชีพ การทุ่มเทของเขามิได้หวังกำไรเพียงอย่างเดียว เพราะการฉายหนังไม่ได้มีกำไรทุกเรื่องเสมอไป แต่ตรังรามาอยู่ได้นานถึง 40 ปี ถือว่าไม่ธรรมดาเลย เป็นเรื่องมหัศจรรย์ด้วยซ้ำไป เปิดตั้งแต่ปี 2514 มาเลิกกิจการปี 2554 เป็นโรงแรกในจังหวัดตรังที่อายุยืนยาวที่สุด” วิวัย กล่าว
“วิวัย” ยังบอกกระบวนการของ “คนโรงหนัง” ในอดีตอีกว่า การฉายหนังแต่ละเรื่องมีค่าใช้จ่าย ได้แก่ ค่าเช่าหนังระยะ 4-5 วัน มีราคานับหมื่นบาทในยุคนั้น ค่านักพากย์ มีค่าโฆษณาประชาสัมพันธ์ของหนังแต่ละเรื่อง ทั้งป้ายคัทเอาท์หน้าโรงหนัง ป้ายคัทเอาท์รถแห่ ป้ายคัทเอาท์กลางสี่แยก สื่อวิทยุ สื่อหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ฉะนั้นการฉายหนังหนึ่ง เรื่องบางเรื่องอาจเสมอตัว บางเรื่องกำไร บางเรื่องขาดทุน เจ้าของต้องใจสู้ และการที่ตรังรามามีอายุยาวนานที่สุดในจังหวัดตรัง ถือว่าเขามีศักยภาพสูง เขาอดทนต่อสู้ มีความตั้งใจสูง ทำด้วยใจรัก โดยหลายปีก่อนตนพยายามสืบหาข้อมูล ทราบว่าเจ้าของตึกจะไม่ทุบ จะอนุรักษ์ไว้ ตนรู้สึกดีใจที่เขายังคงจะรักษาโรงหนังไว้เพื่อเป็นมรดกวัฒนธรรม แต่เมื่อทราบข่าวล่าสุดแล้วว่าเขาจะทุบทิ้ง เนื่องจากภาระที่ต้องแบกรับมาเป็นระยะเวลานาน ตนก็เข้าใจ แต่ก็อดเสียดายไม่ได้
ที่ปรึกษาหอภาพยนตร์แห่งชาติ เชื่อว่า โรงหนังมีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจของจังหวัดตรังด้วย คนแห่มาดูหนัง การค้าขายก็เกิดตามมา เมื่อยางพาราราคาดี คนจะคิดถึงสถานให้ความบันเทิง สมัยนั้นต้องคิดถึงโรงหนังเป็นอันดับแรก ในขณะเดียวกันเมื่อผู้คนแห่เข้ามาดูหนังในเมืองกันมาก การค้าขายในเมือง ในตำบลทับเที่ยง ก็คึกคักเช่นเดียวกัน แต่ตอนนี้ไม่มีโรงหนังสแตนอโลน มีแต่โรงในห้างสรรพสินค้า ซึ่งเสน่ห์มันต่างกันเยอะ และตอนนี้ผู้คนที่เดินห้างเอง ก็ไม่ได้ดูหนังมากเท่าไหร่ เพราะมีกำลังซื้อที่น้อย มีเพียงคนรุ่นใหม่ที่ชอบดูโรงหนังในห้าง คนรุ่นเก่าที่เขารักศิลปวัฒนธรรมด้านนี้ ก็แก่ตัวลงหมดแล้ว ทุกอย่างเปลี่ยนตามกาลเวลา
“หากเป็นไปได้ เราควรอนุรักษ์ไว้ หรือ หาใครมาซื้อ แต่มันคงเป็นไปได้อยาก ผมก็รู้สึกเสียใจ โดยจังหวัดตรังเองตอนนี้ นอกจากตรังรามาแล้ว ยังมีโรงหนังเพชรรามา ของคุณสนอง เพชรวิจิตร ที่ยังเหลือเค้าโครงของความเป็นโรงหนังสแตนอโลนอยู่ แม้เพชรามาตัวโรงหนังจะทำอะไรไม่ได้ เจ้าของซึ่งเป็นสถาบันทางการเงินจะประกาศขายอยู่ แต่ตัวอาคารโดยรอบ และตลาด ยังคงทำธุรกิจ ทำมาค้าขายได้ แต่ในส่วนของตรังรามานั้นตั้งอยู่โดดเดี่ยว อยากให้จังหวัดตรังเก็บอาคารตรังรามาไว้ แต่ไม่รู้จะมีใครมาซื้อกิจการ หรือ ทางเทศบาลนครตรังจะมีงบประมาณมาซื้อหรือไม่ ถ้าเขาขายไม่แพงก็น่าจะซื้อไว้เป็นอาคารโรงละคร น่าจะมีประโยชน์กว่าการทุบทิ้ง และด้านจิตใจของคนตรังก็มีความรักต่อโรงหนัง โรงหนังยังเป็นสิ่งที่ทำให้คนตรังได้พัฒนาความรู้ความสามารถ การดูภาพยนตร์ได้ความรู้ สอนให้คิดเป็น แต่ทุกอย่างล้วนสลายไปตามกาลเวลาหรือ เรียกว่าหมดยุค” วิวัย กล่าวทิ้งท้าย.
แน่นอนว่า ทุกสรรพสิ่ง ใดๆแล้ว ย่อม เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปตามกาลเวลา อาจรวมถึง “ตรังรามา” ในความทรงจำสีจางๆ
แห่งนี้ด้วยเช่นกัน
เอื้อเฟื้อภาพ : ปกรณ์กานต์ ทยานศิลป์ / fb @ Trang ที่นี่จังหวัดตรัง / พยุงศักดิ์ ช่องลมกรด