.
ตรัง-ประสานเสียง จี้ ปลดล็อกผังเมืองตรังฉบับเขียวจัด ขวางพัฒนา อนุรักษ์แบบปิดเมือง 13ผู้ประกอบการมีที่ดินแต่ทำจัดสรรไม่ได้ ทำผู้ซื้อขาดความคุ้มครองตามกม. ชาวบ้านเกาะลิบง-เกาะมุกด์ ขยายที่พักเป็นโรงแรมไม่ได้ ด้านผู้ประกอบการท่องเที่ยวหาดปากเมง จี้ทำผังเมืองท่องเที่ยวโดยเฉพาะ หวั่นพลาดโอกาสกระตุ้นศก.จากภาครัฐ
.
ที่โรงแรมธรรมรินทร์ ธนา อำเภอเมือง จังหวัดตรัง กรมโยธาธิการและผังเมืองจัดการประชุมชี้แจงการวางและจัดทำผังนโยบายระดับจังหวัด จังหวัดตรัง ตามโครงการสร้างความเข้าใจและการมีส่วนร่วมของประชาชน การวางและจัดทําผังนโยบายระดับจังหวัด ตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)การผังเมือง พ.ศ. 2562 เพื่อเป็นกรอบนโยบายและยุทธศาสตร์ของการ พัฒนาพื้นที่โดยรวมของจังหวัดในอนาคตในด้านการใช้ประโยชน์ที่ดิน การพัฒนาเมืองและชนบท การคมนาคมและการขนส่ง การสาธารณูปโภคสาธารณูปการและบริการสาธารณะ รวมทั้งการบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ เพื่อเป็นกรอบแนวทางการพัฒนา ให้แก่หน่วยงานภาครัฐ นำไปปฏิบัติให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีผู้แทนจากทุกภาคส่วนเข้าร่วมประชุม ทั้งส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน ภาคท่องเที่ยว ภาคธุรกิจ และประชาชนเข้าร่วม เพื่อนำข้อเสนอแนะเสนอต่อคณะกรรมการผังเมืองพิจารณา ให้ความเห็นชอบ และประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป
.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากตัวแทนกรมโยธาธิการฯ ได้นำเสนอหลักการจบ ในช่วงเปิดให้แสดงความคิดเห็น ผู้ร่วมประชุมต่างสะท้อนภาพปัญหาการกำหนด-บังคับใช้ผังเมืองกันอย่างกว้างขวาง โดยส่วนใหญ่มองว่าจังหวัดตรังกำหนดพื้นที่สีเขียวครอบคลุมเกือบทั้งจังหวัด ขณะที่จังหวัดที่มีพรมแดนติดต่อกันมีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับปัจจุบันและภาวะเศรษฐกิจ ทำให้เมืองมีการเจริญเติบโต อาทิ กระบี่ พัทลุง สตูล ขณะที่จังหวัดตรังเศรษฐกิจชะลอตัวจากปัญหาราคาสินค้าเกษตร และไม่มีเม็ดเงินจากเศรษฐกิจภาคธุรกิจมาช่วยประคับประคอง มีพื้นที่อนุรักษ์จำนวนมาก แต่ประชากรกลับประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ เหมือนเป็นวางผังเมืองอนุรักษ์แบบปิดเมือง
.
นายอนุรักษ์ หวันมุสา รองอบต.เกาะลิบง กล่าวว่า ปัจจุบันเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ แต่บนเกาะกลับไม่มีที่พักเพียงพอสำหรับรองรับนักท่องเที่ยว มีแค่รีสอร์ทขนาดเล็กของชาวบ้าน และชาวบ้านไม่สามารถสร้างโรงแรมได้ เพราะติดพื้นที่ผังเมืองเขียวคาดขาว (เป็นที่ดินประเภทอนุรักษ์สภาพแวดล้อมเพื่อการท่องเที่ยว) และพื้นที่อุทยาน ซึ่งตอนนี้ผู้ประกอบการได้หารือกันอยู่ และจากการประกาศกระตุ้นภาคท่องเที่ยวจากทางรัฐบาล กำลังจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาเที่ยวจังหวัดตรัง ทั้งจากยุโรป และ จีน แต่ตรังกลับไม่มีที่พักรองรับกลุ่มนี้ พื้นที่เกาะลิบง ตลอดจนเกาะมุกด์แม้จะมีรีสอร์ท แต่ก็เป็นรีสอร์ทเล็กๆ ชาวบ้านเราต้องการให้มีโรงแรมที่พักเพื่อให้ได้ความเป็นมาตรฐาน รองรับนักท่องเที่ยวอีกระดับ
.
ด้านนายวิทยา โพธิพิชญกุล ผู้ประกอบการบริเวณชายหาดปากเมง อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง กล่าวว่า พื้นที่ชายทะเลปากเมงเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวหลักของจังหงวัดตรัง แต่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม หลังจากนี้อยากให้มีการวางผังเมืองด้านการท่องเที่ยวโดยเฉพาะที่อำเภอสิเกา ที่จะช่วยพัฒนาส่งเสริมการท่องเที่ยว เพราะรัฐบาลมีนโยบายที่ช่วยผลักดันการท่องเที่ยวเพื่อ นำเงินประเทศแล้ว แต่จังหวัดตรังกลับไม่สามารถตอบสนองได้ เพราะติดปัญหาผังเมือง
.
ขณะที่นางสาวพิมพ์แพง นทีจารุรัตน์ จากบริษัทบ้านศรีตรัง กล่าวว่า จังหวัดตรังมีปัญหาเรื่องผังเมืองเป็นอย่างมาก ทั้งที่เมืองมีการขยายตัว ในเขตเมืองมีบางส่วนเป็นพื้นที่สีเขียวที่ไม่สามารถทำบ้านจัดสรรได้ ทำได้แค่เป็นโครงการขนาดเล็ก ซึ่งไม่สามารถเข้าพ.ร.บ.จัดสรรที่ดินได้ ขณะนี้ทางผู้ประกอบการ ได้รวบรวม 13 โครงการ ที่ไม่สามารถขอจัดสรรเป็นบ้านจัดสรรได้ ทำได้เพียงเป็นโครงการเล็กๆ ปัญหาคือ ลูกบ้านหรือผู้บริโภคจะไม่ได้รับความคุ้มครองตามพ.ร.บ.จัดสรรที่ดิน ตัวอย่างเช่น ทิศทางการเติบโตของจังหวัดตรังควรจะเติบโตไปทางทิศใต้ที่มีสนามบินตรัง และโรงเรียนต่างๆ แต่กลับพัฒนาที่ดินไม่ได้เลย รวมทั้งจังหวัดตรังติดเรื่องผังเมืองสีม่วงซึ่งเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมที่มีน้อยเกินไป มีภาคเอกชนสนใจลงทุนเกี่ยวกับอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากยางพารา และไม้ยางพาราจำนวนมาก แต่ไม่สามารถเข้ามาลงทุนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ และพื้นที่สีส้มซึ่งติดกับห้างสรรพสินค้าใหญ่แห่งหนึ่ง ที่ให้ทำพาณิชยกรรมได้เพียง 5% ของพื้นที่ทั้งหมด ซึ่ง 5% ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่ถูกใช้ไปแล้ว ผังเมืองจังหวัดตรัง จึงเป็นอุปสรรค์ต่อการพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กับจังหวัดมาก
.
ด้านนายมานิตย์ วงศ์สุรีรัตน์ นายกสมาคมบำรุงการศึกษาตรัง กล่าวว่า โรงเรียนตรังวิทยา ตั้งยู่ในตำบลบ้านโพธิ์ อำเภอเมืองตรัง ก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2535 แต่เมื่อ 2565 ได้ขอต่อเติมและปรับปรุงอาคารเป็นหอพัก แต่ติดปัญหาไม่สามารถก่อสร้างได้ เพราะอยู่ในพื้นที่ผังเมืองชนบทและเกษตรกรรม จึงอยากให้แก้ไขปรับปรุงบริเวณดังกล่าวด้วย
…