.
ตรัง-ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ ชาวบ้านตรัง ประสานเสียง ชง “เศรษฐา” ช่วยปลดล็อคพื้นที่ “อุทยานฯหาดเจ้าไหม” บางส่วนเป็นพื้นที่พิเศษด้านการท่องเที่ยว สอดรับกระตุ้นท่องเที่ยวตามนโยบายรบ. หลังราคายาง-ปาล์มไม่พอกิน ยังเสียงแตก หอการค้าฯ ขอนำร่องบางพื้นที่ ขณะที่ บ.พลังประชารัฐ เสนอ 4 อำเภอ พัฒนาเป็นอพท. หวังดึงงบผูกพันระยะยาว ตัวแทนนำเที่ยว หนุนใช้ “หาดปากเมง” ประตูสู่อันดามัน ใกล้ท่าเรือใหม่ เผย ปัญหาสมองไหล ไกด์ภาษาจีนขาดแคลน เหตุนักท่องเที่ยวต่างชาติมีน้อย เอกชนขยาด หลังคดีทุบทิ้งโรงแรม 6 ดาวริมหาด หึ่ง ผู้ใหญ่ทางการเมืองสายเขียวจัด อยากเป็นเมืองอนุรักษ์มากกว่า
.
จากกรณีภาคเอกชน ตัวแทนสมาคมท่องเที่ยวจังหวัดตรัง มีข้อเสนอต่อนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้ปลดล็อกพื้นที่บางส่วนในเขตอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ระยะทางตามแนวชายหาด 119 กิโลเมตร ทำเป็นพื้นที่พัฒนาพิเศษด้านการท่องเที่ยว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเร่งด่วนตามนโยบายรัฐบาล ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 กันยายน ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ ประชาชนชาวจังหวัดตรัง ต่างประสานเสียงให้การสนับสนุนแนวคิดดังกล่าว เพราะเชื่อว่าจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วนที่สุด เพราะจังหวัดตรังประสบกับภาวะเศรษฐกิจซบซาจากปัญหาราคาสินค้าเกษตร อาทิ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลัก ราคาตกต่ำต่อเนื่องมาหลายปี และแม้รัฐบาลเปิดฟรีวีซ่าจีน-คาซักสถานแล้ว แต่จังหวัดตรังประสบปัญหาไม่มีสถานที่ประกอบกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวริมทะเล เนื่องจากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่แนวชายหาด ล้วนอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแทบทั้งสิ้น รวมถึงปัญหาจำนวนโรงแรมที่พัก ความพร้อมด้านสาธารณูปโภคและการคมนาคม อย่างไรก็ตามยังคงมีแนวคิดที่แตกต่างระหว่างฝ่ายหอการค้าจังหวัดที่ต้องการนำร่องเพียงจุดเล็กๆก่อน ให้สามารถจัดกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวได้ในพื้นที่อุทยาน อาทิ ลานพักผ่อน แคมป์ปิ้ง ขณะที่ฝ่ายบริษัทพลังประชารัฐสามัคคีตรัง ต้องการให้กำหนดเป็นพื้นที่พัฒนาพิเศษด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนตามกรอบขององค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ในทั้ง 4 อำเภอที่มีชายหาดติดทะเล เพื่อให้ได้รับจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินการในระยะยาว
.
.
นายภาวัช อ๋องเจริญกฤช ประธานกรรมการ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีตรัง(วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ทางบริษัทประชารัฐสามัคคีตรัง ได้ทำหนังสือถึงอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา(นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ) ขอให้ประกาศพื้นที่พิเศษแนวชายฝั่งทะเลตรัง 119 กิโลเมตร ครอบคลุม 4 อำเภอ ได้แก่ อ.สิเกา อ.กันตัง อ.หาดสำราญ และอ.ปะเหลียน ซึ่งได้ประเมินศักยภาพของพื้นที่ ซึ่ง อพท. ได้ประเมินผ่านแล้วโดยได้คะแนน 76.3 คะแนน ซึ่งเกินเกณฑ์ ขั้นต่ำที่กำหนดไว้ 75 คะแนน และขั้นตอนต่อไปจะทำรายงานศึกษาศักยภาพของพื้นที่ทั้ง 4 อำเภอ โดยหลังจากรายรายงานแล้วเสร็จ จะนำเสนอต่อคณะกรรมการอพท. และนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน หากคณะกรรมการฯเห็นชอบแล้วก็จะประกาศเป็นราชกิจจานุเบกษา ให้มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ และนำแผนยุทธศาสตร์เข้าคณะรัฐมนตรี(ครม.) หาครม.อนุมัติ สำนักงบประมาณจะจัดสรรงบผูกพัน 5 ปี มาพัฒนาพื้นที่พิเศษต่อไป โดยหลังจากที่เราได้รัฐบาลชุดใหม่ ทางบริษัทประชารัฐสามัคคีตรัง จะประสานไปยังเจ้ากระทรวงท่องเที่ยวฯคนใหม่เพื่อจะหยิบยกผลประเมินที่ผ่านมาและดำเนินการต่อไป
.
“เรื่องโมเดลการออกแบบใช้พื้นที่พิเศษ ทางอพท.มีผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้าน เช่น ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในแผนยุทธศาสตร์ชาติก็มีอยู่ด้วยกันหลายโครงการ โครงการ ซึ่งตัวโครงการที่เกี่ยวข้องกับมิติด้านอนุรักษ์ ส่วนหนึ่งได้มาจากนักวิชาการของอพท, มาจากสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดตรัง ททท.สำนักงานตรัง ที่ต้องทำแผนร่วมกันโดยคำนึงถึงความยั่งยืน การพัฒนาเรื่องความยั่งยืนนั้น ร้านอาหาร ผู้ประกอบการท่องเที่ยว รีสอร์ท สามารถวางนโยบายในเรื่องการเป็น Green resort , Green restaurants ได้ ตัวอย่างเช่น ที่หาดปากเมง มีดูก็องวิลเลจได้รับการรับรองเป็น Green hotel จากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งนักท่องเที่ยวจะให้คุณค่ากับเรื่องนี้ เพราะเป็นโรงแรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามยุทธศาสตร์ชาติ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์จังหวัดตรัง ที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ หรือ Eco tourist”นายภาวัชกล่าว
.
นายภาวัช กล่าวด้วยว่า หลังจาก 1 ตุลาคมนี้ที่รัฐบาลได้เปิดฟรีวีซ่าจีน-คาซัคสถาน ต้นปี 2567 สนามบินนานาชาติตรัง และอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศจะสามารถเปิดใช้ได้ คิดว่าจะมีเที่ยวบินแบบชาร์เตอร์ไฟล์ทจากหลายมณฑลของจีน และจากประเทศมาเลเซียจะหลังไหลเขามา ซึ่งสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวกันตังได้เสนอนายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ให้จัดทำพรีเซนต์เทชั่นเป็นภาษาจีน และให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง มหาวิทยาลัยกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตตรัง จัดการแสดงโขน มโนราห์ มวยไทย ปันจักสีลัต เพื่อสร้างความบันเทิงให้กับนักท่องเที่ยว และยังได้เผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมด้วย
.
.
ด้านนายธีรภัชร์ วุฒิศักดิ์ กรรมการผู้จัดการโรงแรมพาริม่า จังหวัดตรัง กล่าวว่า การพัฒนาชายฝั่งตรังสู่การเป็นพื้นที่พัฒนาพิเศษเพื่อการท่องเที่ยว จะช่วยส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ไม่ว่าโรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร แต่การพัฒนาต้องวางแผนด้วยว่าเราต้องการกลุ่มไหนเข้ามาในจังหวัด ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับการจัดระเบียบของพื้นที่พิเศษที่จะเกิดขึ้น ผู้ประกอบที่มีประสบการณ์ด้านการลงทุน จะสามารถดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาได้ และประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นตามมา คือ เรื่องการจ้างงาน ทั้งนี้การหมุนเวียนเศรษฐกิจของจังหวัดตรัง เกิดขึ้นจากการบริโภคภายในจังหวัด ตอนนี้ในจังหวัดตรังมีคนว่างงานอยู่นับแสนคน การพัฒนาพื้นที่จะทำให้การว่างงานลดลง และเมื่อเกิดการลงทุนแน่นอนว่าสิ่งที่ตามมาคือมาตรฐานการบริการที่ดียิ่งขึ้น รวมทั้งเกิดการสร้างเศรษฐกิจพื้นฐาน สำหรับผู้ประกอบการโรงแรมนั้น การหาบุคลากรที่มีศักยภาพเข้ามาทำงาน ที่ผ่านมาถือว่าเมืองเล็กๆอย่างเรามีจุดอ่อน แต่หากจังหวัดตรังมีการพัฒนาพื้นที่พิเศษด้านการท่องเที่ยว จะทำให้สามารถหาบุคลากรที่มีศักยภาพได้ง่ายขึ้น
.
“ที่สำคัญ สมัยนี้ผู้ประกอบการจะให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะนักท่องเที่ยวจะให้คุณค่ากับธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และดูแลสังคมไปพร้อมๆกัน ขอบเขตการอนุรักษ์เป็นเรื่องที่ดี หากสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ และสามารถขายให้นักท่องเที่ยวได้อย่างตรงกลุ่ม ซึ่งธุรกิจสมัยใหม่จะให้ความสำคัญกับเรื่องสังคม”นายธีรภัชร์ระบุ
.
นางศิริทัศน์ ทิพย์เพ็ง อายุ 52 ปี ชาวบ้าน ม.7 ต.ไม้ฝาด อ.สิเกา จ.ตรัง กล่าวว่า ชายหาดทะเลตรัง และชาดหาดหาดปากเมง มีความสวยงามมาก หากได้รับการพัฒนาจะมีประโยชน์มาก มีโรงแรม มีที่พักดีๆ จะดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ ชาวบ้าน ชาวประมงได้ขายของ มีรายได้ แต่ทั้งนี้ตนคิดว่าควรเริ่มต้นจากการจัดระเบียบเรื่องขยะ มีรถกวาดขยะริมชายหาด มีจุดถ่ายรูปสวยๆ และผู้ประกอบการในพื้นที่ต้องพัฒนาตัวเองด้วย และให้รัฐมาส่งเสริมพวกเขาด้วย ดังนั้นหลายส่วนต้องช่วยกันพัฒนาทะเลตรัง ให้เป็นที่ที่น่าลงทุน น่าท่องเที่ยว
.
.
ด้านนายชุมพล ตุละ ผู้ประกอบการนำเที่ยวทางทะเล ในจังหวัดตรัง กล่าวว่า จากการจัดอันดับให้เกาะกระดานเป็นเกาะที่สวยที่สุดในโลก ไฮซีซั่นที่จะเริ่ม 1 ตุลาคมนี้เชื่อว่านักท่องเที่ยวมาแน่ๆ แต่เราต้องเตรียมความพร้อมรองรับด้วย อาทิ เรือ ร้านอาหาร ที่พัก โดยเฉพาะมัคคุเทศก์ ในส่วนของมัคคุเทศก์ยอมรับว่าจังหวัดตรังยังไม่เก่งภาษา เพราะคนเก่งๆไปจังหวัดอื่นหมด เพราะที่ผ่านมานักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาตรังมีไม่มาก มัคคุเทศก์ที่เก่งภาษาโดยเฉพาะภาษาจีน ก็ต้องไปทำงานจังหวัดท่องเที่ยวใหญ่ๆอาทิ ภูเก็ต เพราะมีงานทำมากกว่า อีกทั้งการจัดอันดับก็มาเริ่มในช่วงท้ายของซีซั่นแล้ว เราจึงมีเวลากับเกาะกระดานเพียงแค่ 2 เดือน จากนั้นอุทยานแห่งชาติก็ต้องปิดการท่องเที่ยวไปอีก 4 เดือน และจะมาเริ่มใหม่ในซีซั่นนี้
.
“ดังนั้นขอฝากไปยังรัฐบาลและนายกฯ ในเรื่องการพัฒนาพื้นที่พิเศษด้านการท่องเที่ยว ด้วยการกำหนดให้พื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมบางส่วน สามารถทำกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวได้ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่บุกรุกทำลายธรรมชาติ มีกิจจกรมเพียงแนวหน้าชายหาด ไม่บุกรุกแนวปะการัง อาทิ กิจกรรมทางน้ำซึ่งนักท่องเที่ยวชาวจีนจะชอบมาก อย่างเจ็ทสกี ลากร่ม เป็นต้น ถ้าเราสามารถดึงให้มีกิจกรรมมากขึ้น นักท่องเที่ยวต่างชาติก็จะเข้ามา และเราก็มีกิจกรรมดำน้ำที่สวยสมบูรณ์อยู่เยอะ และนอกจากเกาะกระดานแล้ว ถ้ำมรกตซึ่งเป็นถ้ำทะเลที่สวยมาก ก็มีที่เดียวในประเทศไทย ไม่รวมเกาะแหวน เกาะเชือก เพราะตรังมีแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลเยอะในเขตอุทยานฯ ถ้าเรามีพื้นที่พิเศษจริง ประโยชน์จะได้ทุกฝ่ายไม่เฉพาะภาคธุรกิจท่องเที่ยว ชาวบ้านประชาชนก็จะได้ด้วย ทุกสาขาอาชีพ รถ เรือ ร้านอาหาร ชาวบ้านขายของ แรงงานบริการ เป็นประโยชน์กับคนตรังส่วนร่วมทั้งหมด เรื่องนี้ทุกฝ่ายที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้รับผลกระทบ ต้องมีส่วนร่วมมานั่งคุยกันเพื่อกำหนดออกแบบพื้นที่ว่าพื้นที่ไหนเหมาะสม มีมาตรการด้านความปลอดภัยระดับมาตรฐาน มีกติกาด้านสิ่งแวดล้อม ถ้ารัฐบาลให้การสนับสนุน ผมเชื่อว่าพื้นที่แนวชายหาดที่ถัดออกมาจากท่าเรือปากเมง ซึ่งเป็นประตูสู่อันดามัน ซึ่งเป็นท่าเรือท่องเที่ยวใหม่ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จและมีความพร้อม น่าจะเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมเป็นพื้นที่พัฒนาพิเศษ ”นายชุมพลกล่าว
.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระแสเรียกร้องให้มีการปลดล็อคพื้นที่อุทยานฯในจังหวัดตรังมีมายาวนาน เนื่องจากตลอดแนวชายหาดของจังหวัดตรัง พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเลแทบทั้งสิ้น รวมทั้งเกาะแก่งต่างๆ อีกทั้งในช่วงโลว์ซีซั่น ก็มีการประกาศปิดเกาะโดยกรมอุทยานฯ ซึ่งภาคเอกชนพยายามผลักดันให้มีการเปิดท่องเที่ยวได้ในบางส่วนที่มีความปลอดภัย แต่ผลกระทบจากการออกประกาศจากทางราชการ ทำให้นักท่องเที่ยวภายนอกไม่เดินทางมาท่องเที่ยวในช่วงโลว์ซีซั่น ประกอบกับเศรษฐกิจภาพรวมภายในจังหวัดซบเซาจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ทำให้จังหวังตรังแม้จะมีทรัพยากรที่โดดเด่นด้านการท่องเที่ยว แต่ก็ไม่สามารถพัฒนานำไปใช้ได้อย่างเต็มศักยภาพ ตัวอย่างกรณีเมื่อปี 2562 ปรากฎเป็นข่าวใหญ่การรื้อถอนอาคารสิ่งปลูกสร้าง ตามคำพิพากษาศาลฎีกา เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2561 ที่มีคำสั่งเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ น.ส.3 ก.เลขที่ 793 และโฉนดที่ดินเลขที่ 10548 โรงแรมอนันตราสิเกา ระดับ 6 ดาว และให้ขับไล่จำเลยและบริวาร พร้อมกับรื้อถอนและขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ดังกล่าว เนื้อที่รวมกว่า 37 ไร่ ทำให้หลังจากนั้นการลงทุนด้านการท่องเที่ยวในจังหวัดตรังชะงักลงทันที เพราะหลายฝ่ายขาดความมั่นใจการเข้ามาลงทุนในพื้นที่ และเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า ผู้หลักผู้ใหญ่ทางการเมืองในจังหวัดตรังมีแนวคิดเขียวจัดด้านการอนุรักษ์ ไม่ต้องการให้มีการพัฒนาแบบก้าวกระโดดในพื้นที่
…