บทความโดย วานิช สุนทรนนท์ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ฅนตรัง
.
ทางแพร่ง ปชป. “นายกฯชาย” ชน! “ชวน”
บทความโดย วานิช สุนทรนนท์ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ฅนตรัง
.
พูดกันตามความจริงแล้ว กรณีที่มีความเห็นต่างกันหรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างนายชวน หลีกภัย กับกลุ่มของนายเดชอิศม์ ขาวทอง ในประเด็นการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาล้วนเป็นความบกพร่องของทั้งสองฝ่าย
.
ไม่ว่าจะเป็นการริเริ่มหรือนำเสนอความคิดโดยใคร ฝ่ายไหน เมื่อ สส.ภายในพรรคมีมติว่าจะงดออกเสียงในการเลือกนายกฯ ของพรรคเพื่อไทยแล้ว สส.ทุกคน ทุกฝ่ายของพรรคประชาธิปัตย์ก็ควรปฏิบัติตามนั้น แต่เอาเข้าจริงๆ มี สส.ผู้ยึดถือมติงดออกเสียงจริงๆ เพียง 6 คนเท่านั้น
.
แม้นายชวนจะบอกกับสาธารณะว่า ได้ขออนุญาตจากที่ประชุม สส.ของพรรคแล้วว่าตนจะขอใช้สิทธิ์ ‘ไม่เห็นชอบ’ แต่ผลที่ออกมาก็มีค่าเท่ากับการโหวตสวนมติพรรคไม่ต่างกับ สส.กลุ่มของนายเดชอิศม์จำนวน 16 คนที่โหวต ‘เห็นชอบ’
.
อย่างไรก็ตาม ดูเผินๆ แล้วจะเห็นว่าทั้งสองฝ่ายต่างก็ไม่เคารพมติ สส.ของพรรคเหมือนๆ กัน แต่แลลึกๆ อาจจะมีบางประเด็นปลีกย่อยที่แตกต่างกัน
.
กรณีการโหวต ‘ไม่เห็นชอบ’ ของนายชวน หลีกภัย แทบจะไม่มีเสียงคัดค้านหรือโต้แย้งจากสังคมเลย ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะ ‘เครดิตทางการเมือง’ ของนายชวนยังเป็นที่ยอมรับของผู้คนมากกว่า
.
น่าเสียดายเพียงอย่างเดียวที่นายชวนยกเหตุผลการใช้สิทธิ์ไปในทิศทางดังกล่าวว่า ‘ไม่ต้องการทรยศคนภาคใต้’ ที่ถูกนายทักษิณ ชินวัตรและพรรคของเขากลั่นแกล้งโดยไม่จัดสรรงบประมาณลงมาพัฒนาภาคใต้เท่าที่ควรจะเป็น
.
จริงอยู่ เหตุผลที่นายชวนอ้างถึงก็เป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ แต่เป็นเหตุผลที่ผู้คนที่ติดตามการเมืองมาอย่างใกล้ชิดฟังแล้วมีความรู้สึกว่ายังไม่เพียงพอ(จนทำให้อีกฝ่ายหนึ่งนำไปพูดกระทบทำนองว่า ‘มรดกความแค้นส่วนตัว’) แท้จริงแล้ว นายชวนควรให้เหตุผลในภาพรวมว่า ความคิด นโยบาย และอุดมคติของพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทยไม่เหมือนกันเกือบจะสิ้นเชิง และกว่า 20 ปีที่ผ่านมาทั้งสองพรรคได้ต่อสู้กันมาตลอดเวลา ซึ่งน่าจะเป็นเหตุผลที่ยอมรับกันได้ดีกว่า
.
ส่วนกรณีการโหวต ‘เห็นชอบ’ ของ สส.กลุ่มของนายเดชอิศม์ กลับถูกวิพากษ์วิจารณ์ไปในทางลบมากกว่ากรณีของนายชวนหลายเท่าตัว เหตุผลสำคัญที่คล้ายกันก็คือ ‘เครดิตทางการเมือง’ ของฝ่ายนี้ยังเป็นที่ยอมรับของสังคมน้อยกว่า แม้ผลการเลือกตั้งที่เพิ่งผ่านมาจะมี ‘ปริมาณ’ สส.ในพรรคมากกว่าก็ตาม
.
อีกอย่างหนึ่ง ระยะเวลาประมาณ 3 เดือนหลังเสร็จศึกเลือกตั้ง จะเห็นได้ว่า กลุ่มของนายเดชอิศม์มีความพยายามที่จะเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคที่มีประวัติเคยต่อสู้กันมาอย่างชัดเจน รวมทั้งการสารภาพถึงการเดินทางไปพบคุณทักษิณที่ฮ่องกงมาแล้วด้วย
.
กรณีความไม่ลงรอยที่นำไปสู่ความยัดแย้งภายในพรรคประชาธิปัตย์ที่นับวันจะรุนแรงมากขึ้นทุกทีนี้ จะเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้เมื่อมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน แต่ถ้าแตกต่างกันบนพื้นฐานที่จะทำเพื่อประโยชน์และความสุขของประชาชนอย่างแท้จริงก็ไม่เป็นไร ไม่นาน ‘บาดแผล’ ต่างๆ ก็จะค่อยๆ เลือนหายไป แต่ถ้าความแตกต่างเกิดจากความคิดที่ตรงข้ามไปจากนี้ก็เป็นเรื่องราวที่พูดคุยกันยากขึ้น
.
สำหรับอนาคตของพรรคประชาธิปัตย์ ในเวลาใกล้ๆ นี้ ภายหลังมีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลชุดใหม่ผ่านไปแล้ว และต้องยอมรับว่าพรรคต้องเป็นฝ่ายค้านอย่างแน่นอนแล้ว อะไรๆ ภายในพรรคก็น่าจะพูดคุยกันง่ายขึ้น การเลือกตั้งผู้บริหารพรรคชุดใหม่ก็น่าจะลุล่วงได้เสียที
.
อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดปรากฏการณ์ ‘โดนเด็กถอนหงอก’ ทางพรรคก็ควรทบทวนกันอย่างจริงจังและอย่าเพิ่งรีบสรุปว่าเป็นความผิดปกติของเด็กแต่เพียงฝ่ายเดียว…
.
วานิช สุนทรนนท์ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ฅนตรัง ผู้เขียน