ยกระดับเตยปาหนันบ้านดุหุน สิเกา ผุดคอลเลคชั่น “Andaman Bohemian” กรมการค้าภายในชง “หมู่บ้านทำมาค้าขาย”

ตรัง-“กรมการค้าภายใน” ร่วม “อำเภอสิเกา” “จังหวัดตรัง” เปิด “หมู่บ้านทำมาค้าขาย” ยกระดับเตยปาหนันบ้านดุหุน ผุดคอลเลคชั่น “Andaman Bohemian” สะท้อนความเป็นท้องทะเล “วิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์เตยปาหนัน บ้านดุหุน” พัฒนาผลิตภัณฑ์สู่ตลาดทุกกลุ่ม ทั้งในและต่างประเทศ พัฒนาท้องถิ่น สร้างความเข้มแข็ง ให้เศรษฐกิจฐานรากเติบโตอย่างยั่งยืน เผย คอลเลคชั่นปีใหม่ ซองใส่โทรศัพท์ แว่นตา ปากกา ฯลฯ


เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2565 ที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์เตยปาหนัน บ้านดุหุน ต.บ่อหิน อ.สิเกา จ.ตรัง นายมานะ เทือกสุบรรณ นายอำเภอสิเกา จังหวัดตรัง เป็นประธานในพิธีเปิดตัวโครงการหมู่บ้านทำมาค้าขายแห่งใหม่ ประจำปีงบประมาณ 2565 “วิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์เตยปาหนัน บ้านดุหุน” ที่ อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง โดยมีนางสาวจันทร์ธิดา กลัมพากร นักวิชาการพาณิชย์ชำนาญการพิเศษ รักษาการตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการพัฒนาและส่งเสริมการแข่งขันทางการค้า กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ กล่าวรายงาน ภายในงานมีการจัดนิทรรศการแนะนำกลุ่มโดยนางจันทร์เพ็ญ ปูเงิน ประธานวิสาหกิจชุมชนฯ และยังมีกิจกรรมสาธิตการเตรียมเส้นใย และจักสานผลิตภัณฑ์จากเตยปาหนัน ซึ่งเป็นพืชท้องถิ่นที่มีอยู่มากในพื้นที่ชายหาดทะเลอันดามัน โดยการนำมาจักสานเป็นเสื่อ กระเป๋า และเครื่องใช้ในบ้าน ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้มาร่วมงานเป็นจำนวนมาก

นางสาวจันทร์ธิดา กลัมพากร นักวิชาการพาณิชย์ชำนาญการพิเศษ รักษาการตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการพัฒนาและส่งเสริมการแข่งขันทางการค้า กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์

นางสาวจันทร์ธิดา กลัมพากร นักวิชาการพาณิชย์ชำนาญการพิเศษ รักษาการตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการพัฒนาและส่งเสริมการแข่งขันทางการค้า กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมการค้าภายใน เล็งเห็นความสำคัญและศักยภาพของชุมชนแห่งนี้ จึงได้เข้ามาช่วยส่งเสริมและพัฒนาให้เข้าร่วมโครงการหมู่บ้านทำมาค้าขายแห่งใหม่ โดยการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์จากเตยปาหนัน โดยพัฒนาคอลเลคชั่น “Andaman Bohemian” เป็นการนำเสนอเรื่องราวของสัตว์ทะเล และพืชท้องถิ่น เพื่อสื่อถึงวิถีชีวิตของชุมชนที่มีความผูกพันกับท้องทะเลอันดามัน โดยการนำเส้นเตยปาหนันมาสานเป็นรูปทรงต่าง ๆ ในรูปแบบของ งานศิลปะสไตล์โบฮีเมียน และนำมาตกแต่งบนผลิตภัณฑ์กระเป๋าสานจากใบเตยปาหนันในรูปทรงใหม่ที่ตรงกับเทรนด์ของตลาดแฟชั่นในปัจจุบัน ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ สามารถใช้ได้ทั้งหญิงและชาย เพื่อขยายตลาดสู่กลุ่มลูกค้าที่กว้างขึ้น โดยคุณศักดิ์จิระ เวียงเก่า หรืออาจารย์ช้าง ดีไซน์เนอร์และผู้ก่อตั้งแบรนด์บายศรี ได้พัฒนาออกแบบผลิตภัณฑ์ ร่วมกับสมาชิกกลุ่มที่เป็นคนรุ่นใหม่ เพื่อให้เกิดการ ต่อยอดด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน และได้จัดการอบรมและให้คำปรึกษาแนะนำด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย การทำตลาดออฟไลน์และออนไลน์ จัดการศึกษาดูงาน รวมถึงการขยายช่องทางการตลาดทั้งออฟไลน์ ออนไลน์ และเจรจาจับคู่ธุรกิจกับห้างค้าปลีกชั้นนำ

สำหรับผลิตภัณฑ์ PANAE ที่ผลิตในปัจจุบัน ประกอบด้วย กระเป๋าถือรูปทรงต่าง ๆ กระเป๋าคลัทช์ กระเป๋าเงิน กระเป๋าใส่เอกสาร กระเป๋าใส่ I PAD ขมุกยาที่สามารถนำมาใส่ข้าวของเครื่องใช้กระจุกกระจิก หมวกสาน และเสื่อ ผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้นจะมีความโดดเด่นไม่เหมือนกัน ทั้งในด้านของโทนสีและลายจักสานที่ละเมียดละไมในการสานชิ้นงานทีละเส้น โดยงานทุกชิ้นจะเป็นงานทำมือเท่านั้น และจุดเด่นคือสีสันของผลิตภัณฑ์ ที่เป็นการไล่โทนสี ซึ่งผลิตภัณฑ์จะบ่งบอกถึงสิ่งที่อยู่ในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวัฒนธรรมหรือ ภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่สำคัญคือจะคัดเลือกเอาเฉพาะวัสดุที่มีอยู่ตามธรรมชาติที่สามารถขึ้นได้ใหม่มาทำเท่านั้น และยังสามารถย่อยสลายได้ง่ายอีกด้วย จนได้รับมาตรฐานเป็นผลิตภัณฑ์เด่นของจังหวัดตรัง

ทั้งนี้ โครงการหมู่บ้านทำมาค้าขาย เกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2560 มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจชุมชน โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ซึ่งมีสมาชิกเป็นเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร สถาบันเกษตรกร กลุ่มแม่บ้าน เพื่อให้ชุมชนเติบโตอย่างแข็งแรง มีรายได้เพิ่มขึ้น พึ่งพาตนเอง และลดการย้ายถิ่นฐานจากชุมชนเข้าสู่เมือง โดยปีงบประมาณ2565 กรมการค้าภายในได้ส่งเสริมและพัฒนาหมู่บ้านทำมาค้าขายจำนวน 37 แห่ง แบ่งเป็น “หมู่บ้านทำมาค้าขายแห่งเดิม” จำนวน 32 แห่ง และจัดตั้งหมู่บ้านทำมาค้าขายแห่งใหม่ จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนหัตถกรรมกระจูดวรรณี จังหวัดพัทลุง, วิสาหกิจชุมชนกลุ่มข้าวยำสำเร็จรูป (ป่าระไมตก) จังหวัดสงขลา, วิสาหกิจชุมชนหัตถศิลป์พื้นบ้านปากบารา จังหวัดสตูล, วิสาหกิจชุมชนกลุ่มปันหยาบาติก จังหวัดสตูล และวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์เตยปาหนัน จังหวัดตรัง

นางจันทร์เพ็ญ ปูเงิน ประธานวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์เตยปาหนัน บ้านดุหุน

ด้านนางจันทร์เพ็ญ ปูเงิน ประธานวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์เตยปาหนัน บ้านดุหุน กล่าวว่า จริง ๆ แล้วทางกลุ่ม การทำงานของเราอาจจะเป็นงานเสริม แต่มีการมุ่งเป้าที่จะยึดโยงเป็นอาชีพหลัก ถึงในสถานการณ์ช่วงโควิดเราก็ยังอยู่ได้ในระดับหนึ่ง จากที่เราออกบูธไม่ได้เราก็ขายออนไลน์ ยังคงพยุงกลุ่มมาได้ และจากหลังช่วงโควิดแล้วเราก็มี Speed ในการ เร่งเข้าสู่ตลาดต่าง ๆ เช่นการออกบูธประชาสัมพันธ์สินค้า มียอดออเดอร์เข้ามาตามความคาดหวังที่เราตั้งไว้ ตามเป้าที่เราจะทำได้ก็ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาก ตอนนี้เรามีการปรับรูปแบบใหม่ด้วยการเน้นฟื้นฟูในเรื่องของงานสาน ที่เป็นงานดั้งเดิมเข้ามาเพื่อที่จะ คงรักษางานสานเดิมแต่เพิ่มเติมในการดีไซน์ ให้เหมาะกับคนรุ่นใหม่ในการใช้งาน แต่ยังคงยึดวิธีกระบวนการสานลายต่าง ๆ แบบดั้งเดิม เพื่อที่จะรักษาตรงนั้น และตอนนี้ก็ได้มีทุกหน่วยงานเข้ามาช่วยกันสนับสนุนร่วมบูรณาการกัน

นางจันทร์เพ็ญกล่าวอีกว่า สำหรับความแตกต่างในเรื่องของเส้นใยวัสดุ นั้นมีความแตกต่างกันไปคนละแบบ ระหว่างเตยกับกระจูด กระจูดจะมีความแข็งนิดนึงในระหว่างที่เตยปาหนัน เมื่อสัมผัสแล้วจะมีความอ่อนโยนอ่อนนิ่ม แต่ในตัวความเป็นเส้นใยทางธรรมชาติถือเป็นวัสดุที่ดีทั้งสองอย่าง ช่วยรักษ์โลกได้ ในเรื่องของความทนทานของเตยปาหนันนั้นจะอยู่ที่การใช้ของลูกค้าแต่ละบุคคล สำหรับในปัจจุบันสมาชิกของเรายังคงมี 40 คน ซึ่งเราทำงานกันแบบครอบครัว อยากให้ครอบครัวของเราเดินกันไปต่อเรื่อย ๆ อย่างเช่น เมื่อวัตถุดิบเราน้อยเราจะต้องคิดกันแล้วว่าทำอย่างไร ให้เพิ่มเติมในส่วนของงานนั้นให้แก่สมาชิกและรักษาทรัพยากร ให้สมดุลในการทำงานของเรา และรักษามาตรฐานในการทำงานของสมาชิก รายได้ต่อของกลุ่มต่อเดือนประมาณ 200,000- 300,000 บาท

นางจันทร์เพ็ญกล่าวต่อว่า ในส่วนของการพัฒนาของเราจะพัฒนาไปเรื่อย ๆ ซึ่งเราเห็นปัญหาในหลาย ๆ ด้าน เราก็อาจจะมีการเพิ่มเติมเสริมในเรื่องของการเพิ่มมูลค่า และในส่วนของการใช้ทรัพยากรเราต้องดูในปริมาณที่เหมาะสม ว่าเราเอามาแล้วเราใช้คุ้มค่าหรือไม่ ผลิตภัณฑ์สินค้าของเรามีส่งออกต่างประเทศด้วยไปยังประเทศเกาหลี มาเลเซีย ญี่ปุ่นและอเมริกา

“สำหรับในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ เราได้จัดเตรียมของให้แก่ลูกค้าซึ่งเป็นของที่ราคาไม่สูงมาก ลูกค้าสามารถซื้อไปมอบเป็นของขวัญให้ได้โดยจะมีลวดลายเป็นคริสต์มาส เช่นเป็นซองใส่โทรศัพท์ แว่นตา ปากกา ฯลฯ เป็นเวอร์ชั่นสิ่งของที่ใช้ได้ทั่วไป ที่กลุ่มลูกค้าใช้งานเป็นประจำ ให้ลูกค้ามีกำลังซื้อไปมอบเป็นของขวัญให้ได้หลายๆคน งานของเรามีหลากหลายรูปแบบ แต่ส่วนใหญ่จะเน้นกระเป๋า แต่ก็ยังคงมี Collection ใหม่เข้ามาเรื่อย ๆ สำหรับราคาสินค้าของเราเริ่มต้น 35-3,500 บาทขึ้นไป”ประธานวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์เตยปาหนัน บ้านดุหุน ระบุ

ทั้งนี้ หมู่บ้านทำมาค้าขาย จาก ศูนย์ ถึง ล้าน เรื่องราวของเตยปาหนัน วัตถุดิบที่ถูกมองข้ามไร้ค่า แต่ด้วยสมองและหัวใจของแม่บ้านกลุ่มหนึ่ง ทำให้สิ่งนี้สร้างรายได้และอนาคตให้ผู้คนมากมาย สู่แบรนด์ PANAE คือ งานสานจากเตยปาหนันที่ได้รับการสืบทอดจากบรรพบุรุษ คิดทำ ส่งเสริม และพัฒนาเพื่อสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน สู่งานสานที่ยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หากสนใจสามารถติดต่อได้ที่ โทร. 081-7775557 หรือ เพจ “PANAE CRAFT เตยปาหนัน ตรัง”

ชมภาพ

Share:

Share on facebook
Facebook
Share on pinterest
Pinterest

Social Media

Most Popular

Categories

เปิดใจ “บิ๊กเหน่-เสน่ห์ ทองศักดิ์” ปธ.เมืองตรัง ยูไนเต็ด “เดอะแมนบีฮายด์” 3 ปีพุ่งทะยาน “วิถี สุพิทักษ์” นักธุรกิจดัง ชมมาถูกทาง กระแสบอลตรังพุ่งรอบ 10 ปี

ตรัง-วงการลูกหนังตรัง คืนชีพในรอบ 10 ปี หลัง “อาชาอันดามัน เมืองตรัง ยูไนเต็ด” เปิดบ้าน “เมืองตรัง สเตเดี้ยม” ล้มยักษ์ “กิเลนผยอง เมืองทอง ยูไนเต็ด” ลอยลำเข้ารอบ 16 ทีมสุดท้ายบอลถ้วย “รีโว่คัพ” เปิดใจ “บิ๊กเหน่-เสน่ห์ ทองศักดิ์” ปธ.สโมสร “เดอะแมนบีฮายด์” 3 ปีพัฒนาการพุ่งทะยาน สู่ฝันยกระดับบอลอาชีพให้คนตรัง เงินสะพัดหลักล้านต่อแมตซ์ ด้าน “วิถี สุพิทักษ์” นักธุรกิจดังเกาะติดตามเชียร์เกือบทุกสนาม เอ่ยปากชมมาถูกทาง กระแสบอลตรังพุ่งรอบ 10 ปี พร้อมทุ่มการสนับสนุน ดีใจเมืองห้วยยอดกลับมาคึกคักอีกครั้ง

“Wander & Sip” ชวนมาจิบ มาชิม เที่ยวส่งท้ายฤดูฝนไปกับบรรยากาศแคมป์ปิ้งดนตรีชิลล์ ใกล้เมืองตรัง พร้อมกิจกรรม DIY 27-29 ก.ย.นี้

ตรัง-ชวนเที่ยวส่งท้ายฤดูฝนแบบชิลล์ๆ กับงาน “Wander & Sip ชวนมาจิบ มาชิม” สัมผัสบรรยากาศสุดคูลในธีมแคมป์ปิ้งใกล้เมืองตรัง พร้อมการแสดงดนตรีสดสบายๆ เน้นแนวคิด Eco-friendly เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ส่งเสริมการท่องเที่ยวช่วงปลายฤดูฝน ภายในงานมีร้านอาหาร เครื่องดื่ม และกิจกรรม DIY จากผู้ประกอบการท้องถิ่นกว่า 15 ร้าน 27-29 กันยายนนี้

“ม.อ.” จับมือ “หัวเว่ย” เปิดตัวศูนย์นวัตกรรมฯ ICT แห่งแรกล้ำสมัยสุดในเอเชียแปซิฟิกที่ม.อ.ตรัง ถ่ายทอดองค์ความรู้ขั้นสูงระดับโลกด้าน ICT-ดิจิทัล

ตรัง-“ม.อ.” จับมือ “หัวเว่ย” เปิดตัวศูนย์นวัตกรรมฯ ICT แห่งแรกล้ำสมัยสุดในเอเชียแปซิฟิก ถ่ายทอดองค์ความรู้ขั้นสูงระดับโลก ICT-ดิจิทัล ด้าน “อธิการ” เชิญชวนสถาบันการศึกษา-ผู้สนใจใช้บริการ ผ่านหลักสูตรรับใบรับรอง ตั้งเป้าพัฒนาคน-นศ.สู่ตลาดงาน ขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านในโลกดิจิทัล สอดรับผลจัดอันดับที่ 1 มหาลัยอิเล็กทรอนิกส์ภาคใต้

ค้นหาหัวข้อข่าวที่คุณสนใจ

Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors