ตรัง-ชาวบ้านเร่งทำเหนียวต้มหรือข้าวต้มลูกโยนคึกคัก ขนมแห่งศรัทธาของชาวใต้ ตามความเชื่อที่ว่า เป็นการทำถวายแด่พระพุทธเจ้า คราวที่พระองค์เสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และชาวบ้านทางใต้นิยมนำไปวางในเรือพระ ในเทศกาลประเพณีแข่งโพนชักพระ ช่วงเดือน 11 ของทางภาคใต้อีกด้วย
เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2565 ที่วัดลำภูรา ม.2 ตำบลลำภูรา อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง ชาวบ้านในพื้นที่ ทั้งหญิงชาย กว่า 50 คน ได้ชักชวนกันมาเร่งทำ เหนียวต้ม หรือแทงต้ม( ภาษาใต้) หรือชื่ออย่างเป็นทางการก็คือ “ข้าวต้มลูกโยน” โดยแบ่งหน้าที่กัน หากเป็นผู้สูงอายุหน่อยก็จะนั่งสอนลูกสอนหลานให้หัดห่อใบกระพ้อ บ้างก็แบ่งกันนำข้าวเหนียวใส่ลงไปในใบกระพ้อ บางคนก็แบ่งหน้าที่กันไปผัดเหนียว บางก็นั่งตัดใบกระพ้อ ซึ่งทุก ๆ คนจะมีหน้าที่กันหมด บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก ตั้งใจทำด้วยความศรัทธา
ซึ่งเหนียวต้มเป็นอีกหนึ่งขนมสำคัญด้วยแรงแห่งศรัทธา ที่พี่น้องชาวภาคใต้แต่ละครัวเรือน นิยมทำกันเพื่อใส่บาตรในวันออกพรรษา ซึ่งจะมาทำร่วมกันเป็นการสร้างความสมัครสมานสามัคคีในชุมชน อีกทั้งทำตามความเชื่อที่ว่า เป็นการทำถวายแด่พระพุทธเจ้า คราวที่พระองค์เสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และชาวบ้านทางใต้นิยมนำไปวางในเรือพระ ในเทศกาลประเพณีแข่งโพนชักพระ ช่วงเดือน 11 ของทางภาคใต้อีกด้วย
“เหนียวต้ม” หรือภาษาปักษ์ใต้เรียกสั้นๆว่า “ต้ม” เป็นขนมที่ทำจากข้าวสารเหนียวเอามาผัดกับหัวกะทิ น้ำตาล และเกลือ บางครั้งอาจจะใส่ถั่วด้วย เพื่อเพิ่มรสชาติให้ขนมนั้นอร่อยน่ากินมากขึ้น โดยนำมาห่อกับใบกะพ้อให้เป็นรูปสามเหลี่ยม แล้วนำไปนึ่งด้วยซึ้งหรือต้ม แล้วแต่ความนิยม
ทั้งนี้สำหรับเรือพระ จะมีการอาราธนาพระพุทธรูป ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพระพุทธรูปปางเสด็จจากดาวดึงส์ หรือปางอุ้มบาตร ขึ้นมาประดิษฐานบนบุษบก หรือเรือพระ ที่แต่ละวัดก็จะหาช่างฝีมือที่มีความชำนาญ ช่วยกันตกแต่งให้สวยงาม เพื่อนำเข้าร่วมประกวดแข่งขัน นอกจากนั้น พุทธบริษัทในละแวกวัดที่จะช่วยกันทั้งกำลังกายและกำลังทรัพย์ โดยบางวัดอาจใช้เวลาตกแต่งนานเป็นแรมเดือน และใช้งบประมาณนับหมื่นนับแสนบาทเลยทีเดียว
ปัจจุบันได้มีการดัดแปลงจากเรือ มาเป็นรถ หรือล้อเลื่อน เพื่อความสะดวกในการชักลากมาตามถนนหนทาง แล้วนิมนต์พระภิกษุในวัดนั้น ๆ ขึ้นนั่งประจำเรือพระ จากนั้นก็จะมีการลากพระเดินทางไปตามสถานที่ต่าง ๆ เพื่อให้ชาวพุทธได้ออกมาร่วมกันทำบุญและถวายต้ม โดยจะมีพุทธศาสนิกชนและศิษย์วัดเดินตามมาด้วย พร้อมกับบรรเลงเครื่องดนตรีประโคมไปตลอดทาง มีทั้งทับโพน กลอง ฆ้อง โหม่ง ฉิ่ง และฉาบ พร้อมด้วยนางรำหน้าขบวน
.
พระครูกิตติญาณวิมล เจ้าอาวาสวัดลำภูรา บอกว่า กิจกรรมลากเรือพระของตรัง ห่างหายไปตั้งแต่เกิดการระบาดของโรคโควิด19 โดยเมื่อปี 63 เป็นปีล่าสุดที่ได้ร่วมกิจกรรมลากพระของจังหวัดตรัง และวัดลำภูราก็ได้รางวัลที่ 1 ในการประกวดเรือพระ ปีนี้จึงไม่ได้ส่งเรือพระเจ้าประกวด เพียงแต่ลากไปโชว์ที่ลานเรือพระ ซึ่งบรรยากาศการลากพระจะสนุกสนาน เพราะชาวบ้านให้ความสำคัญกับวันสำคัญทางพุทธศาสนา ซึ่งก่อนวันลากเรือพระ ชาวบ้านจะมารวมตัวกันเพื่อทำข้าวต้มลูกโยน ใช้สำหรับทำบุญตักบาตรเทโว แจกให้ชาวบ้านที่มาทำบุญเรือพระ และแขวนบนเรือพระตามความเชื่อ ซึ่งวัตถุดิบที่นำมาทำเหนียวต้ม หรือ ข้าวต้มลูกโยน ชาวบ้านจะนำมาช่วยงาน ทั้งข้าวเหนียว, มะพร้าว, ใบกะพ้อ, ถั่ว ซึ่งการรวมตัวของชาวบ้านทำข้าวเหนียวต้ม นอกจากเป็นงานบุญแล้ว ยังเป็นการเสริมความสามัคคีของชาวบ้านด้วย
ด้าน นางเฉลียว เลขกูล อายุ 74 ปี ชาวบ้าน ม.4 ต.ลำภูรา บอกว่า ตนทำข้าวเหนียวต้มทุกปี ทั้งทำจากที่บ้านมาสมทบกับข้าวเหนียวต้มของวัด ครั้งนี้ก็มาทำข้าวเหนียวต้มกับชาวบ้าน และสอนให้กับเด็ก ๆ คนหนุ่มสาวที่เขาทำไม่เป็น ได้สืบทอดกันต่อไป
ขณะที่นางสาวโสรยา วินสน ผู้ใหญ่บ้านหมูที่ 7 ต.ลำภูรา บอกว่า งานบุญลากพระของชาวบ้านลำภูรา ชาวบ้านให้ความสนใจ และมีส่วนร่วม ทั้งช่วยกันตกแต่งเรือพระ ซ้อมรำหน้าขบวนแห่เรือ หลายคนตัดชุดใหม่เพื่อใส่ไปร่วมงานบุญ ส่วนการรวมตัวกันทำข้าวเหนียวต้ม หรือ แทงต้ม ชาวบ้านช่วยกันนำข้าวเหนียว มะพร้าว ใบกะพ้อ มาร่วมกัน หลายคนช่วยทั้งของ ทั้งแรงกาย เป็นสื่อถึงความสามัคคีของคนในชุมชน