ความจริงบางประการที่ควรตระหนักคือ สุขที่มีได้อย่างอสงไขย ต้องสร้างได้ด้วยตนเองด้วย สุขสร้างได้ง่ายหากไร้ทุกข์ แต่สุขไม่ใช่การไม่ทุกข์ หากต้องการสุขต้องปรุงสุข สุขจะสร้างได้ หากไม่ตั้งเงื่อนไขแห่งสุข สุขสามารถพัฒนาได้อย่างไร้ขีดจำกัด ที่สำคัญที่สุดคือ สุขสร้างได้ในทุกสถานการณ์ แต่ต้องเท่าทันในธรรมชาติของสุขอย่างแท้จริง รัฐบาลต้องช่วยสร้างสุข โดยเหตุปัจจัยให้สอดคล้องกับข้อเป็นจริงของสังคม
“จังหวัดตรังเคยเป็นจังหวัดที่มีความสุขอันดับที่ ๓ ของประเทศ ในปี ๒๕๕๔ จากนั้นก็ลำดับค่อย ๆ ลดลงตามลำดับ เราคนตรังจะปล่อยให้เราสุขทุกข์ตามยถากรรมไปอีกนานเท่าไร เราควรทำอย่างไรให้ ตรังเราเป็นเมืองแห่งความสุข ความสุขที่สังคมตรังทุกหมู่เหล่าจะร่วมกันสานพลังสร้างสุข ตามเงื่อนไขที่มีอยู่ ไม่ตั้งเงื่อนไขที่ไม่มีอยู่จริงในการสร้างสุข“
นพ.ไพศาล เกื้ออรุณ อดีตนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด นักสันติวิธี อดีตคอลัมนิสต์คอลัมน์ “พบหมอไพศาล” หนังสือพิมพ์ฅนตรัง
เป้าหมายสุดท้ายของสังคม คือ ต้องการให้สังคมเปี่ยมสุข เหมือนกันทุกสังคม สำหรับจังหวัดตรัง เคยเป็นจังหวัดที่ผู้ว่าราชการท่านหนึ่งกำหนดเข็มมุ่งไว้อย่างชัดแจ้งว่า ตรังเมืองแห่งความสุข มีการขับเคลื่อนจังหวัดด้วยความมุ่งหวังให้ดัชนีความสุขเพิ่มขึ้น
.
ยุคนั้น การขับเคลื่อนงาน เมืองแห่งความสุขของจังหวัดตรังโดดเด่นมาก มีโอกาสไปนำเสนอผลงานที่ออสเตรเลีย ในประเด็นของ เมืองที่มีนโยบายที่ดีที่สุดในเรื่องเมืองแห่งความสุข สุดท้ายพ่อเมืองกลับไม่ประสบสุข ถูกย้ายไปเป็นผู้ตรวจราชการ จึงตัดสินใจดับทุกข์ด้วยการ ฆ่าตัวตายจากตำแหน่งราชการด้วยวิธีการลาออก
ยุคหนึ่ง สังคมไทยมีความตื่นตัวในเรื่องความสุขมากมาย สืบเนื่องจากมีเจ้าชายจากประเทศที่มีการประกาศเข็มมุ่งในการพัฒนาประเทศด้วยการใช้ดัชนีชี้วัดความสำเร็จที่ดูจาก ความสุขมวลรวม แทนดัชนีรายได้ประชาชาติ
นักวิชาการทางด้านสร้างสุขกลุ่มหนึ่งของไทย ได้พยายามย้ำเตือนให้ ผู้มีอำนาจในการดูแลสังคมระดับต่าง ๆ สนใจจะสร้างสุขอย่างเป็นรูปธรรม มีการนำเสนอผลการประเมินความสุขของประเทศ ในระดับจังหวัดทุก ๒ ปี แต่ดูเหมือนจะได้การตอบรับไม่มากนัก การสร้างสุขปรากฏในแผนพัฒนาสังคมไม่เยอะนัก หนึ่งในจำนวนน้อยนี้ มีจังหวัดตรังอยู่ด้วยช่วงเวลาหนึ่ง
สังคมมักคาดหวังว่า เมื่อรัฐบาลได้เก็บค่าคุ้มครองดูแลสมาชิกในรูปแบบของภาษี และสิทธิอื่น ๆ เพื่อนำมาใช้เป็นอำนาจรัฐแล้ว รัฐจึงควรจะสร้างสุขให้สมาชิกได้มากกว่าที่จะปล่อยให้สมาชิกของสังคมสร้างสุขกันตามยถากรรม
.
ความจริงบางประการที่ควรตระหนักคือ สุขที่มีได้อย่างอสงไขย ต้องสร้างได้ด้วยตนเองด้วย สุขสร้างได้ง่ายหากไร้ทุกข์ แต่สุขไม่ใช่การไม่ทุกข์ หากต้องการสุขต้องปรุงสุข สุขจะสร้างได้ หากไม่ตั้งเงื่อนไขแห่งสุข สุขสามารถพัฒนาได้อย่างไร้ขีดจำกัด ที่สำคัญที่สุดคือ สุขสร้างได้ในทุกสถานการณ์ แต่ต้องเท่าทันในธรรมชาติของสุขอย่างแท้จริง รัฐบาลต้องช่วยสร้างสุข โดยเหตุปัจจัยให้สอดคล้องกับข้อเป็นจริงของสังคม
แม้กระทรวงสาธารณสุข จะรับผิดชอบเรื่องสุขโดยตรง แต่มักจะเน้นที่การดับทุกข์มากกว่าสร้างสุข อาจเพราะเข้าใจว่า การไม่ทุกข์ คือ การมีสุข ซึ่งคลาดเคลื่อนจากข้อความจริง โดยจะเห็นได้ว่า แม้ ปี ๒๕๖๑ และ ๒๕๖๒ ผลสำรวจของบลูมเบิร์ก ระบุว่าไทยมีดัชนีความทุกข์ต่ำสุดเป็น อันดับ ๑ แต่ในช่วงเดียวกัน รายงานดัชนีความสุขโลกของสหประชาชาติ กลับพบว่าไทยมีระดับความสุข อันดับที่ ๕๒ และ ๕๔ (ปี ๒๕๖๕ อันดับที่ ๖๑)
จังหวัดตรังเคยเป็นจังหวัดที่มีความสุขอันดับที่ ๓ ของประเทศ ในปี ๒๕๕๔ จากนั้นก็ลำดับค่อย ๆ ลดลงตามลำดับ เราคนตรังจะปล่อยให้เราสุขทุกข์ตามยถากรรมไปอีกนานเท่าไร เราควรทำอย่างไรให้ ตรังเราเป็นเมืองแห่งความสุข ความสุขที่สังคมตรังทุกหมู่เหล่าจะร่วมกันสานพลังสร้างสุข ตามเงื่อนไขที่มีอยู่ ไม่ตั้งเงื่อนไขที่ไม่มีอยู่จริงในการสร้างสุข
ครั้งต่อไป จะขอแลกเปลี่ยนถึงจะสานพลังกันอย่างไรให้ตรังมีสุข สุขอย่างอสงไขย