.
.
ตรัง-อว. ปลื้ม “พริกไทยตรังพันธุ์ปะเหลียน” จากพืชพื้นเมือง โกอินเตอร์ส่งออกแล้วหลายประเทศ ยุโรป-อเมริกา-รัสเซีย ดันสินค้าชุมชนสู้นายทุน “มทร.ตรัง” ขานรับ “พลิกโฉมมหาวิทยาลัย” ระดมความรู้เทคโนโลยีสู่ชุมชน สร้างพืชศก.ใหม่ แถมคว้ารางวัลดีเด่นโครงการ
.
เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 25567 ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง(มทร.ตรัง) อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) นำทีมโดย นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนและพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รักษาการที่ปรึกษาด้านพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมด้วยศ.สนีย์ ไชยโรจน์ ประธานคณะกรรมการกลั่นกรองการจัดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษา กลุ่ม 2 ผศ.ศจี ศิริไกร กรรมการกลั่นกรองการจัดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษา กลุ่ม 2 ผศ.อุดร นามเสน รองอธิการบดีมทร. ผศ.สิทธิโชค จันทร์ย่อง รองอธิการบดีวิทยาเขตตรัง ผศ.ดร.ขวัญหทัย ใจเปี่ยม รองอธิการบดีประจำวิทยาเขตนครศรีธรรมราช นางสาวสุภากิตติ์ เกลี้ยงสงค์ พาณิชย์จังหวัดตรัง นายวสันต์ สุขสุวรรณ เกษตรจังหวัดตรัง และคณะ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงาน โครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย กลุ่มที่ 2 กลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม พร้อมเยี่ยมชมผลการดำเนินงานโครงการการยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการธุรกิจพริกไทยตรังพันธุ์ปะเหลียนคุณภาพสูง สู่โอกาสในการแข่งขัน ซึ่งโครงการดังกล่าวได้รับรางวัลดีเด่น ด้านการนำองค์ความรู้ ทรัพย์สินทางปัญญา เทคโนโลยีและนวัตกรรม การบริการวิชาการไปใช้ในการพัฒนาและยกระดับศักยภาพของภาคการผลิตและบริการ จากการประกวดผลงานสถาบันอุดมศึกษาดีเด่น กลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม สป.อว.
.
.
นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี รักษาการที่ปรึกษาด้านพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สป.อว. กล่าวว่า จังหวัดตรังนับว่าเป็นแหล่งปลูกพริกไทยคุณภาพ โดยเฉพาะพริกไทยตรังพันธุ์ปะเหลียน ที่เป็นพริกไทยพันธุ์พื้นเมืองของจังหวัด และเป็นหนึ่งในสินค้าที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ในปี 2566 มีผู้ประกอบการจำนวน 41 ราย ได้รับหนังสืออนุญาตให้ใช้ตรา GI ซึ่งมีผลต่อการยอมรับของผู้บริโภคสู่การขยายผลทางด้านการตลาดมากขึ้น ด้วยคุณสมบัติมีรสชาติเผ็ดร้อนกลิ่นฉุนกว่าพริกไทยทั่วไป ถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใคร ทำให้พริกไทยตรังเป็นที่นิยมนำไปเป็นส่วนผสมในอาหารต่าง ๆ และปัจจุบันเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญ อาทิ เนเธอร์แลนด์ คาซัคสถาน และรัสเซีย และขณะนี้ได้ผ่านเงื่อนไขของสหภาพยุโรปเพื่อการส่งออกแล้ว และยังมีแผนส่งออกไปยัง แคนนาดา และสหรัฐอเมริกาต่อไป ซึ่งผลิตพริกไทยตรังพันธุ์ปะเหลียนยังมีจุดแข็งเรื่องความเป็นออแกนิกส์ที่หาได้ยาก ตั้งแต่กระบวนการเพราะปลูกจนถึงบริโภคที่ตลาดต่างประเทศต้องการ เป็นการสร้างรายได้สู่ชุมชน สร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจของจังหวัดตรังอย่างมาก และโครงการพริกไทยตรังพันธุ์ปะเหลียนได้รับรางวัลดีเด่น ด้านการนำองค์ความรู้ ทรัพย์สินทางปัญญามาใช้ เพราะกระบวนการการมีส่วนร่วมที่ได้ชักชวนทั้งเกษตรกร ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้ประกอบการ นักวิชาการ ฯลฯ ร่วมในทุกกระบวนการ เพื่อให้คนท้องถิ่นสามารถมีสินค้าแข่งขันกับนายทุนรายใหญ่ได้ จนสามารถส่งออกได้แล้วในปัจจุบัน
.
นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้โครงการการยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการธุรกิจพริกไทยตรังพันธุ์ปะเหลียนคุณภาพสูง สู่โอกาสในการแข่งขันของจังหวัดตรังของมทร.ตรัง เป็นการส่งเสริมผลิตภัณฑ์จากพริกไทย และการพัฒนาศักยภาพการผลิตพริกไทยตรังพันธุ์ปะเหลียน ซึ่งเป็นอัตลักษณ์จังหวัดตรัง โดยได้มีการศึกษาเปรียบเทียบกับแหล่งพริกไทยอื่น อาทิ จันทบุรี รวมถึงต่างประเทศได้แก่ เวียดนาม และกัมพูชา พบว่าผลิตพริกไทยตรังพันธุ์ปะเหลียนมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น จึงเป็นการดำเนินงานเพื่อแก้ปัญหาทั้งในกระบวนการต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดขึ้นกับคนในชุมชน และเป็นโครงการวิจัยขนาดใหญ่ที่มีความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐที่สำคัญ ได้แก่ เกษตรจังหวัด และพาณิชย์จังหวัด รวมถึงผู้ประกอบการผู้ปลูกพริกไทยตรังพันธุ์ปะเหลียน มาร่วมวิเคราะห์และสังเคราะห์ถึงปัญหาและความต้องการของเกษตรกร เพื่อขับเคลื่อนให้พริกไทยพันธุ์ปะเหลียนเป็นที่รู้จักและสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้อย่างแท้จริง ตามนโยบายของอว.ที่มุ่งส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินงานให้มีการต่อยอดและพัฒนาเพื่อสร้างความเข้มแข็งของชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป
.
.
ด้านผศ.อุดร นามเสน รองอธิการบดีมทร. กล่าวว่า มทร.ตรังได้เน้นศึกษาพัฒนาองค์ความรู้ด้านเกษตรเพื่อชุมชน ตามนโยบายพลิกโฉมมหาวิทยาลัย โดยเน้นงาน 3 ด้าน ได้แก่ พืช สัตว์ และ ประมง ด้วยการเน้นการนำองค์ความรู้ทางเทคโนโลยีการผลิตและต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้กับชาวบ้านในพื้นที่ที่ภายใต้ความร่วมมือจากชุมชนในพื้นที่ โดยได้ระดมทั้งเครื่องไม้เครื่องมือ องค์ความรู้ เทคโนโลยี นักศึกษาคณาจารย์ลงพื้นที่ทำงานร่วมกับชุมชนเสมอมา โดยเฉพาะพริกไทยตรังพันธุ์ปะเหลียน มทร.ตรังได้ร่วมขับเคลื่อนกระบวนการผลิต การปลูกร่วมกับเกษตรจังหวัด การแปรรูป รวมทั้งร่วมกับพาณิชย์จังหวัดเพื่อควบคุมมาตรฐานจนสามารถส่งออกได้ และมีเป้าหมายเป็นสินค้าหลักที่สำคัญของจังหวัดตรังอีกชนิดหนึ่งต่อไป
.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับผลิตภัณฑ์จากพริกไทยตรังพันธุ์ปะเหลียน รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปจากการนำพริกไทยตรังพันธุ์ปะเหลียน ที่มีการคิดค้นพัฒนาระหว่างโครงการกับผู้ประกอบการท้องถิ่น อาทิ พริกไทยดำ พริกไทยแดง พริกไทยขาว พริกไทยชมพู พริกไทยป่น ชาพริกไทย ลูกชิ้นปลาผสมพริกไทย คุกกี้พริกไทย ขนมเปี๊ยะไส้ถั่วพริกไทยตรัง เป็นต้น
.
ภาพ
.
.