.
.
ตรัง-ย้อนวันวานเมืองเก่าสิเกาตรัง ตำนานชุมชนเมืองท่ากงสีเก่า เปิดเส้นทางท่องเที่ยวอำเภอแสนสงบ อ่าวสิเกาอุดมสมบูรณ์ สุดฟินชิมอาหารทะเล-แลลิเกป่า ศิลปะการแสดงโบราณปักษ์ใต้สนุกครื้นเครงที่หาชมได้ยาก ส่งต่อสืบทอดด้วยใจรัก
.
เมื่อช่วงค่ำวันที่ 26 เมษายน 2567 ที่บริเวณหอนาฬิกาเทศบาลตำบลสิเกา ตำบลบ่อหิน อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง นายบุ่นเล้ง โล่สถาพรพิพิธ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง(อบจ.ตรัง) เป็นประธานในพิธีเปิดงานส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองเก่าสิเกา ภายใต้ชื่องาน “ย้อนวันวานเมืองเก่าสิเกา” ตามโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองเก่าตรัง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ของอบจ.ตรัง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวและบริการในพื้นที่ชุมชนเมืองเก่าจังหวัดตรัง ให้กลับมาคึกคักอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังเป็นการประชาสัมพันธ์ กิจกรรมการท่องเที่ยว เมืองเก่าตรัง ให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น ทั้งยังเป็นการร่วมกันอนุรักษ์เมืองเก่า และสืบทอดวัฒนธรรมอันเก่าแก่ของจังหวัดตรัง ให้คงอยู่ คู่กับจังหวัดตรังต่อไป และเพื่อกระจายรายได้สู่ฐานราก ตามนโยบายของรัฐบาล โดยไฮไลท์พิธีเปิดนายกอบจ.ตรัง ได้ตวัดคันเบ็ดปลากุเลาตัวใหญ่ยกขึ้นชูเพื่อแสดงสัญลักษณ์เปิดงาน ท่ามกลางเสียงปรบมือของผู้ร่วมงาน ทั้งนี้อำเภอสิเกาเป็นอำเภอชายฝั่งทะเลของจังหวัดตรัง มีทรัพยากรทางทะเลอุดมสมบูรณ์โดยเฉพาะสัตว์ทะเลนานาชนิด อาทิ กลุ่ม หอย ปู ปลา โดยเฉพาะปูม้า หอยตะเภา รวมทั้งปลากุเลาซึ่งพบในอ่าวสิเกา ผ่านการทำประมงแบบพื้นบ้าน ทำให้ปลากุเลาสามารถโตได้เต็มที่และทำให้ปลามีการสะสมไขมันที่ทำให้รสชาติดี อีกทั้งมีแม่น้ำสำคัญหลายสายซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ไหลลงสู่ทะเลผ่านระบบนิเวศน์ป่าชายเลนที่ยังคงถูกรักษาไว้ และเมื่อมาทำเป็นปลากุเลาเค็ม จะได้รสชาติที่อร่อยเป็นที่นิยมมาก จนได้รับการขนานนามว่าเป็น ราชาแห่งปลาเค็ม
.
ทั้งนี้ อำเภอสิเกา เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดตรัง เป็นอำเภอเล็กๆที่สงบและธรรมชาติบริสุทธิ์ ที่มาของชื่อเมือง “สิเกา” ที่น่าเชื่อถือและได้รับการยอมรับมากที่สุดคือ เพี้ยนมาจากคำว่า “กงสีเก่า” เนื่องจากได้มีชาวจีนปีนัง ฮกเกี้ยน และประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาอาศัย ประกอบอาชีพตัดไม้ขาย ต่อมาได้ตั้งโรงงานแปรรูปไม้ขึ้นที่ริมคลองสิเกา เพื่อนำไม้ คบ น้ำมันยาง ไม้ไผ่ และถ่านไม้โกงกางไปจำหน่ายยังต่างประเทศ และบรรทุกสินค้าอื่นจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายในอำเภอสิเกา ในยุคนั้นจึงมีผู้คนอาศัยอย่างหนาแน่น ต่อมาปริมาณไม้ลดลง ชาวจีนจึงเลิกกิจการกลับประเทศจีน บ้างก็ย้ายไปตั้งรกรากใหม่ ในตลาดทับเที่ยง(เทศบาลนครตรัง) บ้างก็เปลี่ยนไปทำไร่พริกไทย สวนยางพารา สวนมะพร้าว บ้างก็มีลูกเมียตั้งรกรากอยู่ที่ตำบลบ่อหิน(ตัวอำเภอสิเกาปัจจุบัน) แต่ตัวโรงงานแปรรูปไม้หรือสถานที่ตั้งโรงงานยังมีอยู่ ชาวบ้านพากันเรียกว่า “กงสีเก่า” ต่อมานานวันเข้าก็เพี้ยนเป็น “สีเก่า” และ “สิเกา” ตามลำดับ
.
.
สำหรับ “ย้อนวันวานเมืองเก่าสิเกา” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-28 เมษายน 2567 บริเวณหอนาฬิกาเทศบาลตำบลสิเกา ตำบลบ่อหิน อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ภายในงานมีร้านค้าในท้องถิ่น และร้านค้าทั่วไปรวมกว่า 100 ร้าน ทั้งยังมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นตลอดการจัดงาน พร้อมเปิดเส้นทางการท่องเที่ยวเมืองเก่าสิเกา ประกอบด้วยชุมชนย่านการค้าโบราณบริเวณหอนาฬิกาเทศบาลตำบลสิเกา ผลิตภัณฑ์ปลาเค็มกางมุ้ง บ่อหินฟาร์มสเตย์ จักสานเตยปาหนัน ชมความงามหาดเก็บตะวัน และหาดหัวหิน เที่ยวเขาเจ็ดยอด และ พิพิธภัณฑ์ภาพวาดทะเลสามมติเขาไม้แก้วพิสดาร นอกจากนี้ภายในงานยังมีบูทอาหารทะเลสดๆจากอ่าวสิเกา โดยนางกมล ทองจันทร์ เชฟอาหารทะเลร้านยกยอ หาดปากเมง ตำบลไม้ฝาด อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ได้มาสาธิตทำเมนูผัดฉ่าทะเลสิเกา ให้ผู้ร่วมงานได้ลิ้มลอง พร้อมเปิดเผยว่า สำหรับเมนูผัดฉ่าทะเลสิเกา วัตถุดิบจากทะเลสิเกาและต้องสด ประกอบด้วย เนื้อปลากะพง ปลาหมึก หอยแมลงภู่ และ กุ้งทะเล เมื่อนำลงไปผัดด้วยไฟแรง ต่อด้วยใส่เครื่องประกอบที่ใช้มีกระเทียม พริก กระชายหั่น พริกไทยอ่อน เครื่องปรุงรส เมื่อเสร็จแล้วจึงโรยด้วยใบโหระพา รสชาติ หวาน เค็มนิดๆ เผ็ดหอมกระชาย อาหารทะเลสดเมื่อนำมาผัดฉ่าจะได้รสชาดธรรมชาติที่อร่อยมาก
.
.
สำหรับอีกไฮไลท์หนึ่งของงาน คือการแสดงศิลปวัฒนธรรม “ลิเกป่า” ซึ่งหาชมได้ยาก จากคณะลิเกป่าถาวรสุนทรศิลป์ ตำบลบ่อหิน อำเภอสิเกา ซึ่งเป็นคณะลิเกป่าเก่าแก่ในอำเภอสิเกา สืบทอดมานานหลายชั่วอายุคน ที่มีลีลาร้อง เล่น รำ อย่างสนุกสนานบนเวที เรียกความสนใจจากผู้ร่วมงานเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะนักแสดงตัวน้อยที่มาร่วมร่ายรำบนเวที ทั้งนี้ สำหรับลิเกาป่าแพร่หลายอยู่ทางฝั่งทะเลตะวันตกเป็นส่วนใหญ่ เป็นการแสดงร้องรำคล้ายคลึงกับลิเกในภาคกลาง แต่มีบทร้อง ทำนอง และเครื่องดนตรีแตกต่างกัน วิธีเล่นตลอดจนการแต่งกายเป็นแบบง่าย ๆ เหมือนชาวป่า ที่ภาษาถิ่นตรังใช้คำว่า “บกๆ” โดยลิเกป่าในตรังเกิดขึ้นในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5-6 เพราะในบทร้องของลิเกป่ากล่าวถึงว่า “บังมาอยู่นี่ได้สิบปี กว่า… เจ้าคุณเทศาตั้งให้บังเป็นใหญ่” เจ้าคุณเทศาฯ หมายถึงพระยารัษฎาฯ อดีตเจ้าเมืองตรัง ซึ่งต่อมาเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต ในสมัยรัชกาลที่ 5-6 สำหรับเนื้อเรื่องตามบทร้องกล่าวว่าแขกแดงเป็นพ่อค้าชาวลักกะตา ซึ่งน่าจะหมายถึงกัลกัตตา มาค้าขายร่อนเร่ไปตามจังหวัดต่างๆ ต่อมาได้มีภรรยาเป็นไทยมุสลิมในบทเรียกว่า “อิจี” หรือ “ยายี” ในที่สุดมาตั้งหลักแหล่งที่อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง อยู่มาวันหนึ่งแขกแดงอยากกลับบ้านเกิด จึงขอให้ยายีเดินทางไปด้วย ตอนเดินทางออกจากท่าเรือกันตัง แขกแดงได้ชี้ชวนยายีชมธรรมชาติ ระหว่างเดินทางมีบทเรือเกยตื้นแถวหน้าเกาะลิบงกับเกาะเหลาเหลียง จากบทร้องนี้เองที่ทำให้เชื่อกันว่าลิเกป่ามีต้นกำเนิดที่จังหวัดตรังด้วยอีกกระแสหนึ่ง
.
.
ลิเกป่าคณะหนึ่งๆ ประกอบด้วยผู้แสดงประมาณ 15–20 คน ทำหน้าที่ลูกคู่และเล่นดนตรีประกอบ 5–8 คน ส่วนที่เหลือเป็นตัวแสดง มีตัวแสดงหลัก คือ แขกแดง ยายี เสนา และ เจ้าเมือง ที่เหลือเป็นตัวประกอบ เวทีแสดงปลูกเป็นโรง 6 เสา หลังคาเพิงหมาแหงน กั้นม่านกลาง ปูเสื่อแสดงบนพื้นดินหรือยกสูง เครื่องดนตรีประกอบด้วย กลองรำมะนา 2–3 ลูก โหม่ง ฉิ่ง ปี่ กรับ ซอ การแต่งกาย แขกแดงตัวเอกของเรื่องแต่งแบบแขกมลายู ติดหนวดเครารุงรัง สวมสร้อยลูกประคำ ยายีตัวเอกฝ่ายหญิงนุ่งผ้าปาเต๊ะ สวมเสื้อยอหยาผ้าลูกไม้ มีผ้าโปร่งคลุมศีรษะและห้อยคอ ส่วนสะหมาดหรือเสนาแต่งแบบคนรับใช้ มักไม่สวมเสื้อ แต่งหน้าตาให้ดูตลกขบขัน นอกจากนั้นแต่งตัวตามเนื้อเรื่อง
.
.
ลิเกป่าของตรังที่ยังสืบทอดการแสดงอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ที่บ้านพรุจูด ตำบลบ่อหิน อำเภอสิเกา ปัจจุบันใช้ชื่อ “ถาวร สุนทรศิลป์” นอกจากนี้ยังมี “คณะสิทธิ์วราภรณ์” ที่ตำบลโคกยาง อำเภอกันตัง ที่บ้านคลองปะเหลียน ตำบลทุ่งกระบือ ที่ตำบลทุ่งค่าย อำเภอย่านตาขาว และมีโรงเรียนที่ฝึกนักเรียนเล่นลิเกป่า เช่น โรงเรียนบ้านพรุจูด โรงเรียนบ้านท่าบันได โรงเรียนเทศบาลห้วยยอดวิทยา เป็นต้น
.
.
นายถาวร รักรู้ อายุ 69 ปี หัวหน้าคณะลิเกป่าถาวรสุนทรศิลป์ กล่าวว่า สำหรับลิเกป่าอำเภอสิเกา ตนเกิดมาจำความได้ ทั้งปู่และพ่อก็เล่นก็สอนกันมาแล้ว และรับสืบทอดมาจากบรรพบุรุษรุ่นก่อนๆหลายรุ่น ตั้งแต่รุ่นทวดชื่อแดง ซึ่งเคยไปเล่นหนังตะลุงที่จังหวัดกระบี่ ไปเห็นลิเกป่าเลยเอากลับมาเล่น มาถึงรุ่นตนก็รับสืบทอดต่อ สมัยก่อนนักแสดงจะมีแต่ผู้ชาย บทผู้หญิงก็ใช้ผู้ชายมาแต่งตัวเป็นหญิง เป็นยายีหรือนางเอก มนต์เสน่ห์ของลิเกป่าที่มีความสำคัญคือความสนุกครึกครื้น เพราะในสมัยโบราณไม่มีความบันเทิงอะไร ในหมู่บ้านเวลามีงานก็เงียบไม่มีการแสดงอะไร ทั้งงานแต่ง งานศพ ต่อมาชาวบ้านเลยเอาถัง เอาแกนลอนมาตีเป็นจังหวะให้ลิเกป่าเล่น และมีเครื่องดนตรีเข้ามา แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็ซบเซาลง เพราะหาลูกหลานมาสืบทอดยาก ก็มีคนในชุมชนชาวบ้านบางส่วนให้ความสนใจ เลยมีการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ บทร้องก็ต้องปรับต้องพัฒนา ร้องบทชมธรรมชาติ ความอุดมสมบูรณ์ของทะเลสิเกา เกาะแก่งต่างๆ การอนุรักษ์ธรรมชาติ เชิญนักท่องเที่ยวมาเที่ยว
.
หัวหน้าคณะลิเกป่าถาวรสุนทรศิลป์ กล่าวว่า ตนก็สอนเด็กๆลูกหลาน อายุน้อยที่สุดในคณะก็มีหลานตนอายุ 7 ขวบ คนที่เล่นลิเกป่าทุกวันนี้มีน้อย บางครั้งตัวแสดงไม่พอ คณะลิเกป่าในตรังซึ่งตอนนี้เหลืออยู่เพียง 2-3 คณะแล้ว ก็มาช่วยกันแสดง คณะไหนคนไม่พอเราก็ไปช่วยกัน เพื่อช่วยกันอนุรักษ์วัฒนธรรมของเราเอาไว้ไม่ให้สูญหายไป ส่วนคณะของตนตอนนี้มีนักแสดง 10 กว่าคน ในส่วนของตนก็จะสืบทอดต่อไปเท่าที่ตัวเองทำได้ ให้ไปแนะนำ สอนลูกหลานที่ไหนตนพร้อมโดยไม่คิดมูลค่า เพราะไม่อยากให้วัฒนธรรมลิเกป่าของภาคใต้สูญหายไป เพราะปัจจุบันนี้ศิลปินยังขาดการสนับสนุนที่จริงจังจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เราก็ต้องทำกันเอง สำหรับผู้ที่สนใจงานแสดงลิเกป่าคณะลิเกป่าถาวรสุนทรศิลป์ ตำบลบ่อหิน อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ตนไม่เกี่ยงเรื่องเรตราคา อย่างน้อยขอให้เห็นความสำคัญของวัฒนธรรมลิเกป่า สามารถติดต่อได้ทางโทรศัพท์หมายเลข 094-393-9337
.
ภาพ