.
ตรัง-รับแรงงานตรังรายแรกกลับบ้าน หลังทางการอิสราเอลประเมินแล้ว ให้นายจ้างส่งกลับ เจ้าตัวบอก “สบายใจได้กลับบ้าน” รองผู้ว่าฯ เผยสถานการณ์สงบ พร้อมช่วยกลับไปทำงานต่อ แรงงานจังหวัด จัดรถตู้ส่ง ระบุ เหลืออีก 2 ราย อยู่พื้นที่ปลอดภัย เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดทุกวัน
.
เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 21 ตุลาคม ที่ท่าอากาศยานตรัง นายทรงกลด สว่างวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำโดย แรงงานจังหวัดตรัง สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดตรัง พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดตรัง ประกันสังคมจังหวัดตรัง พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดตรัง ฝ่ายปกครอง ร่วมรอต้อนรับการกลับบ้านของ นายณัฐพงศ์ เพชรศรี อายุ 29 ปี แรงงานไทยของจังหวัดตรัง ชาวอำเภอห้วยยอด ที่ทำงานอยู่ที่ฟาร์มเห็ดในประเทศอิสราเอล ซึ่งสมัครใจลงทะเบียนเดินทางกลับประเทศไทย ทั้งนี้ นายณัฐพงศ์ มีภูมิลำเนา อยู่ที่ตำบลวังคีรี อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง แม่เป็นชาวตรัง ส่วนพ่อเป็นชาวจังหวัดภูเก็ต โดยเดินทางมากับสายการบินแอร์เอเชีย เที่ยวบินที่ FD-8600 จากท่าอากาศยานดอนเมือง-ตรัง โดยเมื่อมาถึงนายณัฐพงศ์ ซึ่งสวมแมสได้ตรงเข้าทักทายกับคณะผู้มาต้อนรับ และนั่งพูดคุยกับรองผู้ว่าฯตรังและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องราว 10 นาที ก่อนจะรับสิ่งของเครื่องใช้จากรองผู้ว่าฯ เพื่อเป็นการต้อนรับกลับบ้านเกิด โดยนายณัฐพงศ์ได้ประสานงานล่วงหน้ากับเจ้าหน้าที่ว่า ขอความเป็นส่วนตัว ไม่ต้องมีญาติมารับ และไม่ขอให้สัมภาษณ์ใดๆ เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ได้กลับบ้านแล้วรู้สึกสบายใจหรือไม่ นายณัฐพงศ์ หันมาตอบสั้นๆว่า “สบายใจครับพี่” ก่อนจะก้าวขึ้นรถตู้ของกระทรวงแรงงานเพื่อนำไปส่งยังบ้านซึ่งมีแม่และญาติรออยู่ในพื้นที่อำเภอห้วยยอดทันที
.
.
.
ด้านนายทรงกลด สว่างวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ให้สัมภาษณ์ว่า เบื้องต้นได้พูดคุยกับนายณัฐพงเขาไม่ได้มีอาการตื่นตระหนกใดๆ และตัวเขาต้องการทำงานต่อ แต่ทางการอิสราเอลได้สั่งการให้นายจ้างส่งตัวกลับ เพราะการดำเนินธุรกิจทางนั้นชะงักหมด เท่าที่ทราบนายณัฐพงษ์ไม่ได้รับผลกระทบ และผู้ว่าจ้างเขาก็ดูแลแรงงานเป็นอย่างดี ทั้งเรื่องความเป็นอยู่การจัดระบบงาน และการจัดสวัสดิการ ซึ่งการกลับมาน่าจะเป็นการกลับมาชั่วคราวหากสงครามสงบจะกลับทำงานที่นู่นต่อ เพราะเป็นอาชีพที่มั่นคง มีรายได้สูง และมีเพื่อนร่วมงานเป็นคนไทยด้วยกันประมาณ 50% ผู้ประกอบการอิสราเอลชอบแรงงานไทยเพราะขยัน รับผิดชอบ งานฟาร์มเห็ดที่นายณัฐพงษ์ทำนั้นเน้นทำงานเป็นกะ เป็นช่วงเวลา
.
นายทรงกลดกล่าวว่า นายณัฐพงศ์ พื้นเพเป็นชาวจังหวัดภูเก็ต แต่แม่เป็นชาวจังหวัดตรัง และมาอาศัยอยู่กับแม่ที่ช่วงเวลาหนึ่ง และเขาสมัครงานไปทางหน่วยงานของรัฐพร้อมกับเพื่อนๆ ซึ่งรายได้ที่นั่นจูงใจ ซึ่งอาชีพเกษตรกรทางอิสราเอลไม่ได้สนใจ เขาชอบประกอบอาชีพอื่นมากกว่า คนไทยจึงมีความได้เปรียบ ส่วนแรงงานไทยชาวจังหวัดตรัง ยังมีอีก 2 ราย ที่ยังไม่เดินทางกลับ เพราะเขาประเมินสถานการณ์ว่ายังไม่รุนแรงจนมีผลกระทบต่อเขา นายจ้างก็ดูแลอย่างดี เลิกงานไม่ได้ออกไปดื่มเหล้าหรือเที่ยวเตร่ที่ไหน อยู่ในที่ปลอดภัย จะมีคนงานบางส่วนที่ไปเที่ยวเพ่นพ่านจะมีโอกาสโดนทำร้าย ในส่วนราชการ ฝ่ายปกครอง สาธารณสุข ก็แวะเวียนไปเยี่ยมบ้านพ่อแม่ของแรงงาน สาธารณสุขจะเข้าไปดูเรื่องความเครียด ซึ่งแรงงานเขาบอกพ่อกับแม่ว่าให้หลีกเลี่ยงการดูข่าวสาร เพราะกลัวว่าจะทำให้เครียด ให้ฟังเรื่องราวที่เขาติดต่อมาบอกพ่อกับแม่ด้วยตัวเอง
.
.
ด้านนางอมรวรรณ ช่วงเพ็ชจินดา แรงงานจังหวัดตรัง กล่าวว่า ส่วนแรงงานอีกรายของตรังภรรยาเขาเป็นชาวจังหวัดทางภาคอีสาน ถ้าเดินทางกลับไทยเขาจะกลับภูมิลำเนาทางภาคอีสาน ซึ่งทั้ง2คนได้ย้ายมาอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย และยังทำงานอยู่ คาดว่ารัฐบาลอิสราเอลจะเคลียร์เป็นโซนๆ ซึ่งทางเราต้องติดตามสถานการณ์เป็นรายวัน และทางไทยพร้อมให้การช่วยเหลือเรื่องการเดินทางกลับ ซึ่งมีขั้นตอนอยู่ ทั้งกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน แต่ต้องดูความต้องการของเขาเป็นหลัก ซึ่งนายณัฐพงษ์ที่เดินทางกลับมาได้ยื่นเรื่องรับเงินสวัสดิการจำนวน 15,000 บาท ไว้ที่กระทรวงแรงงาน หากสงครามยุติแล้วอยากกลับไปทำงานอีกทางกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน จะเป็นเซ็นเตอร์ดูแลช่วยเหลือต่อไป ซึ่งในสถานการณ์สงครามอิสราเอลจะมีข้อยกเว้น ลดหย่อน ด้านแรงงานให้ ในส่วนของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะมีเงินช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางให้ ซึ่งพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดตรัง จะไปดความเป็นอยู่ของครอบครัวตามขั้นตอนต่อไป หากเข้าเงื่อนไขจะได้รับการดูแลช่วยเหลือ
…