.
ตรัง-ภาคเอกชน-ศาลเจ้าตรัง ผนึกกำลังจัดใหญ่งาน “สืบสานศรัทธา ตำนานกินเจเมืองตรัง” 9 วัน 9 คืน โชว์กิจกรรมหายาก ลุยไฟ การเล่นไท่เปี๋ยหรือเค่ว ประกวดจัดโต๊ะรับองค์ศักดิ์สิทธิ์ ประกวดหนูน้อยเจ้าแม่กวนอิม หวังดึงดูดนักท่องเที่ยวจากต่างถิ่น มาสัมผัสกินเจวิถีตรัง
.
ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดตรังว่า ระหว่างวันที่ 14-23 ตุลาคมนี้ จะเข้าสู่เทศกาลกินเจของชาวจังหวัดตรัง ซึ่งขณะนี้ศาลเจ้าต่างๆได้ปิดศาลเจ้าเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับจัดงานกินเจของแต่ละศาลเจ้า ในขณะที่เอกชนเองก็เตรียมจัดงานเทศกาลกินเจ อย่างยิ่งใหญ่เช่นเดียวกัน โดยนายนิธิภาคย์ โล่สถาพรพิพิธ ประธานจัดงาน”สืบสานศรัทธา ตำนานกินเจเมืองตรัง” เปิดเผยว่า สำหรับ งาน “สืบสานศรัทธา ตำนานกินเจเมืองตรัง” จะจัดขึ้น 9 วัน 9 คืน ที่บริเวณตลาดชินตา ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่าง ตน ตลาดชินตา เทศบาลทุ่งยาว ศาลเจ้าพ่อหมื่นราม ศาลเจ้าอ่องเอี่ย รวมทั้งศาลเจ้าอื่นๆ ในจังหวัดตรัง และสนับสนุนงบประมาณโดย นายบุ่นเล้ง โล่สถาพรพิพิธ นายกอบจ.ตรัง โดยกิจกรรมเด่นๆ คือ กิจกรรมลุยไฟในคืน 2 ค่ำ และกิจกรรมที่แปลกใหม่เข้ามาก็คือการแข่งขันเล่นไท่เปี๋ยหรือเค่ว เพื่อสืบสาน สืบทอด ดำรงไว้ให้คงอยู่ ซึ่งกินเจจังหวัดตรังถือเป็นประเพณีไปแล้ว ตลอดจนมีการแข่งขันกินบะหมี่เจ ประกวดจัดโต๊ะรับองค์ศักดิ์สิทธิ์ พร้อมกับให้ความรู้เกี่ยวกับจัดโต๊ะรับองค์ศักดิ์สิทธิ์ที่ถูกต้อง ประกวดหนูน้อยเจ้าแม่กวนอิม
.
.
“ผมริเริ่มจัดงานครั้งนี้เพราะอยากให้ภาครัฐเขามามีบทบาทมากกว่านี้ ราชการเองอาจจะมีข้อจำกัด แต่เขาก็ให้งบสนับสนุนมาบ้าง ฉะนั้นหากครั้งนี้เราทำสำเร็จ ปีหน้าหรือครั้งต่อๆไป ราชการคงจะหันมาจัดกิจกรรมเอง หรือ อาจจะสนับสนุนงบประมาณให้เรามากขึ้น ซึ่งสำหรับผมในฐานะคนตรังแต่กำเนิด ได้รับการปลูกฝังจากครอบครัวมาโดยตลอด ถึงเทศกาลกินเจ ก็ต้องกินเจ ต้องเข้าไปไหว้องค์ศักดิ์สิทธิ์ในศาลเจ้า เราก็ซึมซับเอาพิธีกรรมที่องค์ศักดิ์สิทธิ์ ม้าทรงได้กระทำ และกิจกรรมต่างๆ ที่พบเห็นมาโดยตลอด กินเจตรังเป็นพิธีกรรมที่แตกต่างไม่เหมือนกับจังหวัดไหน เช่น การเล่นไท่เปี๋ย ก็ไม่เหมือนใคร เป็นแบบของเรา”นายนิธิภาคย์ระบุ
.
นายนิธิภาคย์ กล่าวอีกว่า งานครั้งนี้เน้นการดึงกิจกรรมที่เกี่ยวกับเทศกาลกินเจ อาหารเจแปลกใหม่ การละเล่นแปลกใหม่ เพื่อดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาจังหวัดตรัง ให้คนตรังชวนเพื่อนๆมาร่วมงานกินเจที่บ้านเรา ซึ่งที่ผ่านมากิจกรรมบางอย่างในช่วงเทศกาลกินเจของจังหวัดตรังได้หดหายไป 10 ปี เป็นอย่างต่ำ จากยุคอดีตที่เคยรุ่งเรือง เป็นที่รู้จัดไปทั่วประเทศ ตนและเพื่อนๆลูกศาลเจ้าพ่อหมื่นรามได้หารือกันและจัดงานนี้ขึ้น เพื่อรื้อฟื้นบรรยากาศที่เคยครึกครื้นให้กลับมา อยากให้นักท่องเที่ยว และประชาชนชาวตรังตื่นตัวกับเทศกาลกินเจมากขึ้น นักท่องเที่ยวได้มาสัมผัสการกินเจแบบชาวตรัง คาดว่าตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไปจะมีกิจกรรมที่ยิ่งใหญ่ขึ้น และหวังให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วม สำหรับงาน “สืบสานศรัทธา ตำนานกินเจเมืองตรัง” ครั้งที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 14-22 ตุลาคม นี้ ณ ตลาดชินตา เขตเทศบาลนครตรัง อ.เมือง จ.ตรัง
.
ทั้งนี้ ชาวตรังมีประเพณี “ถือศีลกินผัก” หรือ “กินเจ” สืบทอดกันมาร้อยกว่าปี คือเริ่มประมาณพ.ศ.2447 จัดระหว่างวันขึ้น 1-9 ค่ำ เดือน 9 ของจีน หรือราวเดือนกันยายน-ตุลาคมของทุกปี นับเป็นช่วงเวลาการบูชาเทพเจ้าแห่งดาวนพเคราะห์ทั้ง 9 ตามความเชื่อแบบจีน ในพิธีกินเจ จะมีสมาชิกของศาลเจ้าและผู้ร่วมศรัทธามาร่วมละกิจโลกียวัตร บำเพ็ญศีล สมาทาน กินเจ บริโภคแต่อาหารผักผลไม้ งดเว้นกิจที่จะทำความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น ซักฟอกมลทินออกจากกาย วาจา ใจ สวมเสื้อผ้าสีขาวสะอาดบริสุทธิ์ ก่อนเริ่มการกินเจจะมีพิธีเตรียมการหลายขั้นตอน ที่สำคัญคือการยกเสาตะเกียงหรือคี่เต็งโก ซึ่งทำในวันสิ้นเดือนก่อนกินเจ 1 วัน ระหว่างพิธีกินเจ จะมีการอัญเชิญเทพเจ้ามาประทับทรงและออกเยี่ยมลูกหลาน ซึ่งแต่ละศาลเจ้าจะกำหนดวันออกเยี่ยมไม่ตรงกัน มีการจัดขบวนแห่อย่างมโหฬารไปรอบๆเมือง ในขบวนจะมีม้าทรงพร้อมกับบรรดาสาวกและรูปปฏิมาตัวแทน “เจ้า” อยู่ใน “เกี๊ยว” หรือ เก้าอี้หาม ออกเยี่ยมเยียนโปรดสัตว์ไปตามอาคารบ้านเรือน ฝ่ายเจ้าของบ้านก็จะจัดโต๊ะบูชาและเตรียมประทัดไว้จุดต้อนรับ บางที “เจ้า” ก็จะแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ต่างๆ โดยใช้ของมีคมเสียบทะลุเนื้อหนัง กลับจากออกเที่ยวก็มีพิธีลุยไฟ กระทั่งถึงวันที่ 9 ค่ำ ก็จะมีพิธีส่งเทพเจ้าที่อัญเชิญมา รุ่งขึ้นยกเสาตะเกียงลงเป็นอันเสร็จพิธี สำหรับสถานที่ประกอบพีธีกรรมทางศานาของชาวไทยเชื้อสายจีนในตรัง คือ “ศาลเจ้า” หรือคนท้องถิ่นเรียก “โรงพระ” ปัจจุบันมีศาลเจ้าสำคัญ ซึ่งเป็นที่เคารพศรัทธาของประชาชน อาทิ “ศาลเจ้ากิวอ่องเอี่ย” “ศาลเจ้าพ่อหมื่นราม” “ศาลเจ้าพ่อเสือ” “ศาลเจ้าไต่เซี่ยฮุดโจ้ว” “ศาลเจ้ากวนอิมเก็ง” “ศาลเจ้าส่ามอ๋องฮู้เต้าโบ้วเกง” “ศาลเจ้าท่ามก๋งเยี่ย” “ศาลเจ้าเปากง” “ศาลเจ้าพ่อกวนอู” “ศาลเจ้าไท่หนานไต้เทียนกง” เป็นต้น
.
…