“ศาลเจ้าซียับตรัง” นำหอยขมไหว้พระจันทร์ เชื่อจะมีกินไม่อดอยาก กินในคืนเพ็ญจะมีดวงตาสดใส ตำนานขนมไหว้พระจันทร์ ประวัติศาสตร์กู้ชาติจีนแผ่นดินใหญ่


.

ตรัง-สุดแปลก “ศาลเจ้าซียับตรัง” ศาลเจ้าเก่าแก่จีนกวางตุ้งร้อยปี นำหอยขมเป็นเครื่องไหว้พระจันทร์ สื่อถึงความมีกินไม่อดอยาก หากได้กินหอยขมในคืนเพ็ญจะมีดวงตาสดใส เผยตำนานขนมไหว้พระจันทร์ เชื่อมโยงประวัติศาสตร์กู้ชาติจีนแผ่นดินใหญ่

.

เมื่อเวลา19.00 น. วันที่ 29 กันยายน ที่สมาคมญาติมิตรสามัคคี หรือ ศาลเจ้าซียับ ศาลเจ้าเก่าแก่อายุกว่า 100 ปี ที่แฝงตัวอยู่ในย่านตึกเก่าชิโนยูโรเปียน เขตพื้นที่เมืองเก่าทับเที่ยง ถนนกันตัง ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมืองตรัง มีการเปิดศาลเจ้าในเทศกาลไหว้พระจันทร์ให้ประชาชนได้ร่วมไหว้พระจันทร์ และไหว้สักการะองค์ศักดิ์สิทธิ์ภายในศาลเจ้าเพื่อความเป็นสิริมงคล ซึ่งศาลเจ้าซียับเป็นศาลเจ้าเก่าแก่อายุนับร้อยปีและไม่เปิดประตูบ่อยนัก จะเปิดเฉพาะโอกาสสำคัญ โดยทางคณะกรรมศาลเจ้าได้จัดโต๊ะไหว้พระจันทร์ตามแบบชาวจีนกวางตุ้ง ที่นอกจากจะมีขนมไหว้พระจันทร์ ขนมเปี๊ยะ ขนมโก๋ และผลไม้มงคลตามแบบการไหว้พระจันทร์ทั่วไปแล้วนั้น บนโต๊ะไหว้พระจันทร์ยังมีหอยขมหรือหอยนา เผือก รากบัว กระจับเขาควาย อ้อย เป็นของไหว้มงคลสำหรับเทศกาลนี้ด้วย ขณะเดียวกันบริเวณหน้าศาลเจ้ายังได้จัดโต๊ะ-เก้าอี้ ให้ผู้ที่มาไหว้พระจันทร์ได้นั่งรับประทานแกงหอยขม บะหมี่ ดื่มน้ำชาร่วมกัน เพราะชาวไทยเชื้อสายจีนกวางตุ้งที่จังหวัดตรังมีความเชื่อว่าหอยขมหรือหอยนา หมายถึงความอุดมสมบูรณ์ เปรียบเหมือนสุภาษิตที่ว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” หากใครได้รับประทานหอยขมในคืนไหว้พระจันทร์ จะมีดวงตาที่สว่างไสว ครอบครัวมีความสุขสมบูรณ์ มีกินไม่อดอยาก สำหรับบรรยากาศภายในศาลเจ้าเป็นไปด้วยความเรียบง่ายอบอุ่น พ่อแม่จูงบุตรหลานมาไหว้พระจันทร์เพื่อความเป็นสิริมงคล และร่วมสืบสานวัฒนธรรมอันดีงาม ในขณะที่ผู้สูงวัยได้มาพบปะพูดคุยกันด้วย

.

นพ.วิชิต อร่ามนิตย์ ผู้ประสานงานศาลเจ้าซียับ เปิดเผยว่า การที่มีหอยขม หรือหอยนา โดยภาษาจีนเรียกว่า จิ่น หลอ เป็นเครื่องไหว้ในเทศกาลไหว้พระจันทร์ หมายถึงความไม่อดอยาก คนจีนบอกว่าถ้าไม่มีอาหารให้เดินไปที่นา อย่างน้อยก็มีหอยให้กิน และหากได้กินหอยในคืนเดือนเพ็ญหรือคืนพระจันทร์เต็มดวง ดวงตาจะกลับมาสดใส ดวงตากลับมาสุขสกาวเหมือนดวงตาวัยหนุ่มสาว คืนนี้ศาลเจ้าได้แจกจ่ายแกงหอย และผัดหมี่ให้ผู้ร่วมงานได้รับประทาน นอกจากนี้ของที่ใช้ไหว้ยังสื่อความหมายถึงภาษา วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ ของจีนกวางตุ้ง เช่น กระจับเขาควาย หมายถึงความฉลาดหลักแหลม รากบัว หมายถึงความสวยงาม เจิดจรัส เหมือนดาวล้อมดวงจันทร์ เผือกหมายถึงมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ปกปักรักษา การปกป้องบ้านเมือง ที่เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์การกู้ชาติของชาวจีน ที่จะโค่นล้มมองโกลจึงนัดหมายในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 โดยเอาประเพณีมอบขนมไหว้พระจันทร์ให้กันมาบังหน้า ตบตาพวกมองโกล แอบสอดจดหมายในไส้ขนมเปี๊ยะเพื่อนัดแนะวัน จนในที่สุดสามารถโค่นล้มมองโกลได้สำเร็จ

.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลเจ้าซียับ มาจากการที่ชาวจีนกวางตุ้งจาก 4 อำเภอในจีนแผ่นดินใหญ่ ย้ายมาตั้งรกรากไม่ว่าจะในประเทศใดของโลก เมื่อตั้งหลักปักฐานได้ก็จะจัดตั้งศาลเจ้าซียับขึ้นที่ประเทศนั้นๆ ศาลเจ้าซียับที่จังหวัดตรังถือเป็นแห่งเดียวในประเทศไทย มีอายุกว่า 100 ปี เดิมบริเวณนี้เป็นสวนพริกไทย ศาลเจ้าเป็นเพียงกระท่อมเล็กๆ เมื่อพระยารัษฎานุประดิษฐ์ มหิศรภักดี คอซิมบี๊ ณ ระนอง ย้ายเมืองจากอำเภอกันตังมาที่เมืองทับเที่ยง ก็ได้รื้อสวนพริกไทยออกแล้วสร้างตึกแถวย่านเมืองเก่านี้ขึ้นมา ศาลเจ้าก็ได้ตั้งอยู่ตรงนี้ตั้งแต่นั้นมา และปรับสถานะเป็นสมาคมญาติมิตรสามัคคี ซึ่งศาลเจ้าซียับจะเปิดให้คนทั่วไปเข้าสักการะองค์ศักดิ์สิทธิ์เฉพาะเทศกาลสำคัญเท่านั้น

ชมภาพ

Share:

Share on facebook
Facebook
Share on pinterest
Pinterest

Social Media

Most Popular

Categories

“ธนกร ศรีสุขใส” เล่ามิติใหม่ “กองทุนสื่อปลอดภัยฯ68” หนุนคนตัวเล็กรวมกลุ่มเครือข่ายเข้มแข็ง ชูสารพัดContentภาคใต้ ทรัพยากร-สิ่งแวดล้อม กู้วิกฤตพะยูน-โลกร้อน

“ธนกร ศรีสุขใส” เล่ามิติใหม่ “กองทุนสื่อปลอดภัยฯปี68” หนุนคนตัวเล็กรวมกลุ่มสร้างเครือข่ายเข้มแข็ง ชูสารพัด Contentภาคใต้ ทรัพยากร-สิ่งแวดล้อม กู้วิกฤตพะยูน-โลกร้อน สร้างนิเวศสื่อปลอดภัย-สร้างสรรค์ ชี้ช่องรับทุน

เปิดยิ่งใหญ่ “เทศกาลลูกลม ชมถ้ำ เรียนรู้วัฒนธรรมนาหมื่นศรี” 5-9 มี.ค. สืบตำนานตรังนา-ลุ่มน้ำกสิกรรมโบราณคลองนางน้อย

ตรัง-เปิดยิ่งใหญ่ “เทศกาลลูกลม ชมถ้ำ เรียนรู้วัฒนธรรมนาหมื่นศรี” 5-9 มี.ค.นี้ สืบสานภูมิปัญญาตรังนา ลุ่มน้ำกสิกรรมโบราณ “ลุ่มน้ำคลองนางน้อย”