.
ตรัง-“บิ๊กไม้ยางตรัง” ชี้ ส่งออกไทยหดหนักจากปัญหาจีน-สหรัฐฯ ฝาก “รบ.เศรษฐา” พัฒนาท่าเรือสินค้าฝั่งอันดามันศูนย์กลางคมนาคมภูมิภาค แต่ปัจจุบันแทบไม่เหลือรอด “ตรัง” เจอปัญหาเรื้อรังร่องน้ำตื้นเขิน วอนกำหนดพื้นที่ให้ชัด สิ่งแวดล้อม-ส่งออก หากทำได้ช่วยขับเคลื่อนศก.มหาศาล หวั่น นโยบายประชานิยม ค่าแรง 600 เงินเดือน 2.5 หมื่น ทำชาวบ้านรับเคราะห์ขั้นสุดท้าย เพราะเอกชนเอาตัวรอดได้ด้วยการลดต้นทุน ลดราคาซื้อวัตถุดิบ-เพิ่มงานพนักงาน แต่ภาคเกษตรจะพังเพราะต้นทุนแรงงาน หนุนสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลทุกอำเภอ ขนาด 9 เม็กกะวัตต์ ช่วยปชช.ใช้ไฟถูกลง
.
เมื่อวันที่ 7 กันยายน นายเสน่ห์ ทองศักดิ์ ประธานกรรมการบริการกลุ่มบริษัท ทองศักดิ์ กรุ๊ป จำกัด สมาชิกสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตรัง กล่าวถึงมาตรการการเร่งกระตุ้นภาคส่งออกของรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)นัดแรกเมื่อวันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมาว่า สำหรับโครงสร้างการส่งออกที่รัฐบาลกำลังกระตุ้น เนื่องจากมีปัญหาว่าในปี 2566 นี้ การส่งออกโตช้า จากหลายปัญหา โดยเฉาะปัญหาจีน-สหรัฐอเมริกา ในเรื่องข้อกีดกันและกำแพงภาษีต่างๆ ซึ่งเอกชนมองว่าเป็นปัญหาที่ส่งผลอย่างมากทำให้การส่งออกไทยมีปัญหา ทั้งนี้สำหรับจังหวัดตรัง อุปสรรคภาคส่งออกที่เป็นปัญหาเรื้อรังมายาวนาน คือเรื่องของสายการเดินเรือขนส่งสินค้า ตรังมีท่าเรือขนส่งสินค้าจำนวนมากถึง 5-6 ท่า ที่ทำรายได้มหาศาลให้กับประเทศ ผ่านการขนถ่ายสินค้าฝั่งอันดามัน แต่กลับติดขัดเรื่องการเดินเรือและร่องน้ำมาโดยตลอด คงต้องถึงเวลาที่ต้องหาทางออก มาตกลงกันว่าจะเอาแบบไหน ระหว่างการรักษาสิ่งแวดล้อม กับการกระตุ้นการส่งออก ต้องกำหนดเขตพื้นที่ให้ชัดเจน เพราะเป็นไปไม่ได้เลยหากรัฐบาลจะกระตุ้นการส่งออก แต่ไม่มีการปลดล็อกปัญหาการพัฒนาท่าเรือชนส่งและร่องน้ำ ทำให้เรือสินค้าขนาดใหญ่ไม่สามารถเข้ามาขนถ่ายสินค้ายังท่าเรือในพื้นที่จังหวัดตรังได้ ทำให้เกิดต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจังหวัดตรังสินค้าส่วนใหญ่ยังเป็นสินค้าเกษตร อาทิ ยางพารา ไม้ยางพาราแปรรูป เชื้อเพลิงชีวมวล(Wood pellet) รวมไปถึงปูนซีเมนต์ เป็นต้น และจังหวัดใกล้เคียงอย่าง จังหวัดกระบี่ พัทลุง สตูล ก็ล้วนมาใช้ท่าเรือที่ตรัง เมื่อท่าเรือในจังหวัดตรัง ขนถ่ายไม่สะดวก ภาคอุตสาหกรรมก็ต้องใช้วิธีอื่น ซึ่งมีทั้งไปใช้บริการท่าเทียบเรือสงขลา สุราษฎร์ธานี การขนส่งทางบกผ่านด่านสะเดา จังหวัดสงขลา ไปยังท่าเรือเมืองปีนัง ประเทศมาเลเซีย รวมถึงขนส่งไกลไปถึงท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี ปัญหานี้สำหรับจังหวัดตรังเกิดขึ้นมายาวนาน และปัจจุบันปัญหาร่องน้ำได้ส่งผลให้ผู้ประกอบการท่าเรือสินค้าบางรายในจังหวัด ต้องไปหาพื้นจัดสร้างท่าเรือใหม่
.
“ผมเคยนำคณะสำรวจทางทะเลเพื่อนำเรือบาสขนาดใหญ่ 8,000-10,000 ตันกรอสเข้ามา แต่ทำไม่ได้ เพราะร่องน้ำตื้นเขิน ตอนนี้ฝั่งอันดามันท่าเรือสินค้าแทบจะไม่เหลือแล้ว มีที่ตรังมากที่สุด นอกนั้นมีบ้างที่ภูเก็ต กระบี่ ดังนั้นฝั่งอันดามัน รัฐบาลต้องกำหนดยุทธศาสตร์ให้ชัดเจน ระหว่างการท่องเที่ยวกับภาคเศรษฐกิจการส่งออก โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าทางทะเล เพราะตรังถือเป็นจุดศูนย์กลางอันดามันเชื่อมโยงในระดับภูมิภาคที่เหมาะสม”นายเสน่ห์ระบุ
.
นายเสน่ห์กล่าวถึงนโยบายประชานิยมของรัฐบาลปัจจุบันว่า นโยบายเชิงประชานิยม อาทิ ค่าแรงขั้นต่ำวันละ 600 บาท เงินเดือนปริญญาตรีเดือนละ 25,000 บาท เราก็เป็นห่วงว่านโยบายประชานิยมแบบนี้สุดท้ายแล้วไม่ได้กระทบภาคธุรกิจอย่างเดียว แต่จะมีผลพวงกลับไปที่เกษตรกรที่ล้วนมีต้นทุนค่าแรงงานทั้งสิ้น เราในฐานะเอกชนไม่เป็นไร เราก็อยากให้คนกินดีอยู่ดี จำไว้ว่าเอกชนจะไม่ตาย คนที่ตายคือฐานราก คือประชาชน และเกษตรกร ตัวอย่างเช่น ค่าไฟฟ้า ขึ้นมาเท่าไหร่เราก็ไม่ว่า แต่เราก็ต้องลดราคารับซื้อไม้ท่อนยางพารา สุดท้ายเกษตรกรก็เดือดร้อน ดังนั้น ด้วยต้นทุนเหล่านี้ชาวสวนยางพาราจะเอากิโลละ 100 บาทได้อย่างไร ชาวสวนปาล์มจะเอาราคากิโลกรัมละ 10 บาทได้อย่างไร หากต้นทุนค่าแรง ค่าไฟฟ้า ค่าพลังงาน ต้องสูงขึ้น อย่างไรก็ตามรัฐบาลสามารถทำได้ แต่ต้องมีมาตรการคืนกลับมาช่วยเหลือด้วย สิ่งที่นักลงทุนกังวลคือ เรื่องค่าพลังงาน โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าจะกังวลมาก ค่าไฟฟ้าที่พุ่งขึ้นในช่วงที่ผ่านมานักลงทุนกำลังจะย้ายการลงทุนกันอยู่แล้ว ที่ผ่านมาการส่งเสริมพลังงานชีวมวลก็ยังไม่ได้ส่งเสริมเต็มที่ และถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าให้เฉพาะบางกลุ่มทุน โรงไฟฟ้าชีวมวลควรมีการส่งเสริมให้ประชาขนให้ใช้ ให้ทุกทุกอำเภอมี ขนาด 9 เม็กกะวัตต์ ลงทุน 600-700 ล้านบาท แต่จะเกิดประโยชน์ในระยะยาว ทำให้ประชาชน และภาคส่วนต่างๆได้ใช้ค่าไฟที่ถูกลงมาก
…