ตรัง-ชาวบ้านร้องน้ำเสียจากทน.ตรังลงสู่ลำน้ำธรรมชาติ กระทบวิถีชีวิต-อาชีพหาปลา น้ำเน่าเสียทำสัตว์น้ำหนีหาย วอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้นตอน้ำเสียทำบ่อบำบัด-กำจัดขยะก่อนปล่อยลงสู่คลองธรรมชาติ
.
เมื่อเร็วๆนี้ ชาวบ้านพร้อมด้วยทีมผู้บริหารเทศบาลตำบลนาตาล่วงพร้อมสมาชิกสภาอบจ.ตรัง อ.เมือง จ.ตรัง นำผู้สื่อข่าวลงพื้นที่สำรวจสภาพลำคลองทุ่งน้ำผุด ซึ่งเป็นจุดรับน้ำจากคลองห้วยยางซึ่งไหลมาจากเขตเทศบาลนครตรัง และตำบลบางรัก ก่อนไหลลงทุ่งน้ำผุด ผ่านเขตเทศบาลตำบลนาตาล่วง ที่ขณะนี้มีการมีการขุดลอกคลองกว้างและลึกขึ้น เพื่อให้น้ำไหลได้อย่างสะดวก แต่ทว่ากำลังประสบปัญหาอย่างหนักจากน้ำเน่าเสียและขยะที่ไหลลงมาจากคลองห้วยยาง ประมาณ 3-4 ช่องทาง และบางช่องทางไหลผ่านเขตตำบลบางรักด้วย โดยทั้งหมดได้ไหลลงมารวมกันที่ทุ่งน้ำผุดแห่งนี้ ทำให้ลำคลองทุ่งน้ำผุด จนถึงคลองปอนและเรื่อยไปจนถึงปากอ่าววัดท่าจีน ระยะทางรวมประมาณ 3 -4 กิโลเมตร กลายเป็นคลองที่มีน้ำเน่าเสีย มีขยะลอยเกลื่อน ทำระบบนิเวศน์เสียหาย ปลาตาย และหนีหายไม่สามารถอาศัยอยู่ได้ กระทบกับวิถีชีวิตชาวบ้านหลายครัวเรือนมาอย่างยาวนานในการประกอบอาชีพจับปลาขาย เพราะขณะนี้เมื่อน้ำเน่าเสีย ปลาทุกชนิดตาย และที่เหลือก็หนีหายไปอาศัยอยู่ที่อื่น จากเดิมทุ่งน้ำผุดแห่งนี้เป็นแหล่งอาศัยของปลาจำนวนมาก โดยเฉพาะปลาสลิด ปลากระดี่ ปลาช่อน ปลาหมอ ปลาดุก ปลานิล เป็นแหล่งอาศัยหากิน และจับไปขายของชาวบ้านเป็นรายได้เลี้ยงครอบครัว แต่ขณะนี้ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนอย่างหนัก อีกทั้งขณะนี้น้ำเสียดังกล่าวกำลังส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำในแก้มลิงของตำบลนาตาล่วง ที่เตรียมจะใช้เป็นแหล่งน้ำดิบในการก่อสร้างระบบประปาหมู่บ้านเลี้ยงชาวบ้านทั้งตำบล
.
นายคล้อย เกื้อนะ อายุ 53 ปี ชาวบ้าน ต.บางรัก อ.เมืองตรัง ซึ่งมีอาชีพจับปลาขาย กล่าวว่า ตนเองลาออกจากงานที่โรงงาน มายึดอาชีพหาปลาขายอย่างเดียวมาไม่ต่ำกว่า 30 ปี เลี้ยงลูก 4 คน จนโตเรียนหนังสือจบ เมื่อก่อนเคยจับปลาได้วันละจำนวนมาก แต่ละครั้งลากอวนขึ้นมาจากเรือไม่ไหว ต้องโทรเรียกคนที่บ้านมาช่วยกันหาม บางวันจับปลาไปขายได้ประมาณ 6,000–7,000 บาท ต้องขายกันถึง 2 วัน แต่ตอนนี้ออกไปหาแต่ละครั้งเหลือเพียงประมาณ 200-400 บาท เพราะไม่มีปลาเลย บางวันลงกัดดักปลาไว้ 7 หัว ได้ปลาเพียง 7 ตัว เดือดร้อนอย่างหนัก เป็นแบบนี้มาหลายปีแล้ว นับตั้งแต่มีการขุดลอกลำคลอง ทั้งนี้ การขุดลอกลำคลอง ทำให้กว้างขึ้น และลึกขึ้นเป็นผลดี ความจริงปลาเข้ามาอาศัยจำนวนมากขึ้น แต่สาเหตุสำคัญเกิดจากน้ำเน่าเสียที่ถูกปล่อยลงมาจากข้างบน ทำให้ปลาตาย และหนีหายไปหมด ในวันนี้อาจพอมีปลาบ้าง เพราะก่อนหน้าน้ำท่วมทุ่งทำให้ปลาเข้ามาอาศัย
.
นายคล้อยกล่าวอีกว่า หลังจากนี้เชื่อว่าเมื่อน้ำแห้งลงและน้ำเสียลงมาเติม ซึ่งขณะนี้น้ำก็เปลี่ยนเป็นสีคล้ำลงแล้ว ปลาจะไม่เหลืออีกเลย ตนต้องนำอวนไปดักจับปลาเหนือจุดน้ำเสียที่ไหลลงมา เพราะปลาหนีน้ำเสียไปอยู่เหนือน้ำ ยิ่งถ้าฝนตกน้ำเสียจะไหลลงมาจำนวนมากจะยิ่งดำกลายเป็นน้ำเน่าเสีย หน้าแล้งก็ไม่แน่ใจว่าจะมีปลาหรือไม่ ทางแก้มีทางเดียวเท่านั้น คือ อย่าให้น้ำเสียไหลลงมา ปลาก็จะกลับมา ถ้าน้ำแห้งน้ำจะกลายเป็นสีดำเลย ตอนนี้ปลาหนีหายหมดแล้ว โดนน้ำเสียกระทบหนักมาก คลองยาวหลายกิโลเมตรไปจนถึงปากคลองวัดท่าจีน ตอนนี้ต้องใช้เครื่องมือจับสัตว์น้ำมากขึ้น ใช้เวลาวางกว่าจะมายกนานขึ้น และปลาก็ไม่ได้ เมื่อก่อนพอวางไม่นานปลาก็เข้าเต็ม ยิ่งขุดลอกยิงดีปลามากกว่าเดิม แต่น้ำเสียทำให้ปลาตายและหนีหาย จึงต้องแก้อย่าให้น้ำเสียลงมาเท่านั้น
.
ขณะที่นายอาคม โม้เล้น อายุ 49 ปี ชาวบ้านหมู่ 1 ต.นาตาล่วง อ.เมืองตรัง กล่าวว่า เวลาฝนตกหนักก็จะมีขยะจำนวนมากลอยมาด้วย ทั้งขวดพลาสติก กระเบื้อง โฟม และมีน้ำเสียสีดำลงมาด้วย จะไหลลงมาจำนวนมาก สังเกตเห็นได้ชัดน้ำเสียที่ไหลลงมาจะมีฟองอากาศมาด้วยและมีสีคล้ำ ทำให้ลำคลองบริเวณจุดรับน้ำ ลักษณะน้ำจะเป็น 2 สี คือ สีคล้ำ กับน้ำใส ปลาลอยตาย และหนีหาย ปริมาณปลาก็ลดน้อยลงมาก ปัญหานี้เกิดมาประมาณ 3-4 ปี ตั้งแต่เริ่มขุดลอกลำคลอง เดิมทุ่งน้ำผุดแห่งนี้มีปลาสลิดชุกชุมมาก แต่ตอนนี้ปลาสลิดไม่มีหลงเหลือเลย รวมทั้งปลาหมอ ปลาช่อน มีแต่พวกลูกปลานิลซึ่งทนสภาพได้ คนมีอาชีพหาปลาขายก็ไม่มีแล้วเพราะปลาที่เคยได้ครั้งละครึ่งกระสอบ ตอนนี้เหลือประมาณ 2-3 กิโลกรัม อยากให้เจ้าของน้ำด้านบนเร่งสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียก่อนน้ำจะลงมาสู่ลำคลอง และจัดเก็บขยะอย่าปล่อยลงมา เพราะทำให้ระบบนิเวศเสียหาย
.
นายวิโรจน์ สรยิง รองนายกเทศมนตรีตำบลนาตาล่วง กล่าวว่า ขณะนี้เกิดผลกระทบหนักจากน้ำเน่าเสียที่ไหลลงมาจากคลองห้วยยาง เขตเทศบาลนครตรัง ซึ่งมีช่องทางน้ำไหลลงมาประมาณ 3-4 ช่องทาง บางช่องผ่าน ต.บางรักด้วย โดยทั้งหมดไหลลงมารวมกันที่ทุ่งน้ำผุด ไหลลงคลองปอน แก้มลิงของตำบล ซึ่งเดิมคุณภาพน้ำดีมาก ทางเทศบาลเตรียมจะทำเป็นแหล่งน้ำดิบผลิตน้ำประปาเลี้ยงชาวบ้านในต.นาตาล่วงทั้งตำบล แต่ครั้งหลังสุดทดสอบคุณภาพน้ำปรากฎว่าไม่ผ่าน แนวทางแก้ไข คือ น้ำเสียที่มาจากเทศบาลนครตรัง จากตำบลบางรัก จะต้องมีการบำบัดก่อนปล่อยลงมา รวมทั้งขยะด้วยก็อย่าปล่อยลงมา ล่าสุดนายกเทศมนตรีตำบลนาตาล่วงได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงมาตรวจสอบพื้นที่แล้ว และประสานไปยังเทศบาลนครตรัง และต.บางรักแล้ว แต่น้ำเสียก็ยังไหลลงมา ยังไม่มีความคืบหน้า ผลกระทบหนักต่อไปในวันข้างหน้าหากไม่รีบแก้ไขคือ คุณภาพน้ำในแก้มลิงจะยิ่งเสียหาย นอกจากนั้นทางเทศบาลตำบลนาตาล่วงมีแผนจะทำคลองปอนเป็นโครงการคลองสวยน้ำใสด้วยและจะปรับภูมิทัศน์ 2 ฝั่งแม่น้ำของคลองปอน จะมีการปลูกต้นไม้ ดอกไม้ แต่พอน้ำเสียก็กระทบกับคลองปอนและทำให้โครงการหยุดชะงัก
.
ชมภาพ