ย้อนตำนาน 89 ปี งานเหลิม-หลองรัฐฯเมืองตรัง กับการเปลี่ยนแปลงสู่งานแสดงสินค้าประจำปี

สำหรับ “คนตรัง” ที่มีอายุ 30 ปี ขึ้นไป หลายคนคงเห็นภาพความเปลี่ยนแปลงของ “งานฉลองรัฐธรรมนูญและงานกาชาด” ที่ในอดีตใช้ชื่องานว่า “งานเฉลิมพระชนมพรรษาและงานฉลองรัฐธรรมนูญ” ที่เคยจัดขึ้นที่บริเวณศาลากลางจังหวัดตรังในปัจจุบัน


“บรรยากาศต่างไปมากกับการจัดงานในปัจจุบัน ที่เสมือนเป็นงานแสดงสินค้า แม้จะมีการจัดงานด้านศิลปวัฒนธรรม นิทรรศการ แต่ก็มีสัดส่วนน้อยมาก เมื่อเทียบกับโซนจำหน่ายสินค้าเร่ และสินค้าอื่นๆในปัจจุบัน และในทุกๆปี จะมีเสียงบ่นจากประชาชนผู้เที่ยวงานถึงปัญหาสินค้าอุปโภคบริโภคภายในงานที่มีราคาแพง”

การออกร้านและกิจกรรมของนักเรียนโรงเรียนวิเชียรมาตุ ในงานฉลองรัฐธรรมนูญ ประมาณพ.ศ.2510

งานฉลองรัฐธรรมนูญและงานกาชาด จังหวัดตรัง 2565

เดือนธันวาคม 2565 แม้ “ตรัง” บ้านเราจะมีสายฝนกระหน่ำไม่ขาดสาย แต่ผู้คนจำนวนไม่น้อยก็ยังหลั่งไหลไปเที่ยว “งานฉลองรัฐธรรมนูญและงานกาชาด” ที่บริเวณลานเรือพระ สนามกีฬาเทศบาลนครตรัง 2 หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “ทุ่งแจ้ง”

สำหรับ “คนตรัง” ที่มีอายุ 30 ปี ขึ้นไป หลายคนคงเห็นภาพความเปลี่ยนแปลงของ “งานฉลองรัฐธรรมนูญและงานกาชาด” ที่ในอดีตใช้ชื่องานว่า “งานเฉลิมพระชนมพรรษาและงานฉลองรัฐธรรมนูญ” ที่เคยจัดขึ้นที่บริเวณศาลากลางจังหวัดตรังในปัจจุบัน

“บรรยากาศต่างไปมากกับการจัดงานในปัจจุบัน ที่เสมือนเป็นงานแสดงสินค้า แม้จะมีการจัดงานด้านศิลปวัฒนธรรม นิทรรศการ แต่ก็มีสัดส่วนน้อยมาก เมื่อเทียบกับโซนจำหน่ายสินค้าเร่ และสินค้าอื่นๆในปัจจุบัน และในทุกๆปี จะมีเสียงบ่นจากประชาชนผู้เที่ยวงานถึงปัญหาสินค้าอุปโภคบริโภคภายในงานที่มีราคาแพง”

ดังเคยปรากฎข้อมูลในผลการวิจัยเรื่อง “การศึกษาหามาตรการป้องกันการทุจริตในการจัดงานประจำปีของ หน่วยงานรัฐ” ของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ศูนย์การศึกษานอกที่ตั้ง ตรัง ที่ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยการจัดงานประเพณีประจำปี ได้แก่ งานกาชาด งานเรือพระในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดให้มีคาราวานสินค้า

ภาพรวมของการจัดงานประจำปีในส่วนของหน่วยงานรัฐ งานกาชาด มีรูปแบบการดำเนินงานที่ไม่มีงบประมาณกลางที่ตั้งจากหน่วยงานรัฐในการดำเนินการ การจัดงานประจำปีของหน่วยงานรัฐงานกาชาด จะขึ้นอยู่กับนโยบายของผู้บริหารในจังหวัดและรูปแบบการดำเนินงานจะกำหนดโดยผู้บริหารของจังหวัด แต่ในส่วนของงานย่อยที่นำมาประกอบ มีการตั้งงบประมาณจากหน่วยงานรัฐ อาทิ นิทรรศการจากหน่วยงานต่างๆ งานด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและประเพณี กิจกรรมส่งเสริม สืบสาน ศิลปวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ความเป็นไทย เป็นต้น

โดยในส่วนงานประจำปี (งานกาชาด) วิธีการและขั้นตอนการจัดงานกาชาด ผู้ดูแลโครงการจะเป็นผู้กำหนดรูปแบบของงานโดยรูปแบบการจัดงานจะมี 3 ส่วน คือ

1. งานกาชาด การจับฉลากกาชาด

งานประจำปีและงานกาชาดจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดงาน มีการแยกประเภทงานงานกาชาดจะประกอบด้วย การจับฉลากกาชาด การขายสลากกาชาด โดยเหล่ากาชาดจะเป็นผู้ดำเนินการ ในส่วนของการจับฉลากกาชาด เหล่ากาชาดจะเป็นผู้รับผิดชอบ มีการประชุมจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อกำหนดรูปแบบของงานโดยผู้ว่าราชการจังหวัด ไม่มีการตั้งงบประมาณ ภาพรวมของจังหวัดในการดำเนินการ

2. การจัดเวทีการแสดง การจัดนิทรรศการ

การจัดเวทีการแสดง การจัดนิทรรศการ จะเป็นส่วนของหน่วยงานจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบจะให้แต่ละอำเภอมาจัดนิทรรศการเพื่อแสดงอัตลักษณ์ของแต่ละอำเภอ อีกทั้งหน่วยงานราชการในจังหวัดจะจัดตั้งงบประมาณประจำปีตามแผนงานเพื่อนำกิจกรรมมาร่วมในงานประจำปี

3. ส่วนของเอกชนหรือผู้ประมูลที่เข้ามาใช้พื้นที่ของส่วนราชการ

เอกชนจะดำเนินการให้เช่าพื้นที่การออกร้านจำหน่ายสินค้า ในการจัดงานจะมี “เอกชนผู้ประมูลงาน ผู้รับเหมา ผู้เชี่ยวชาญ” (การเรียกชื่อขึ้นอยู่กับผู้ที่เกี่ยวข้องใช้คำนั้น) เข้ามาจัดสรรพื้นที่ให้กับร้านค้าเพื่อจำหน่ายสินค้า สินค้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าทั่วไปและกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าที่มาจำหน่ายสินค้าจะมีอยู่ 2 ส่วนคือ 1. คาราวานสินค้าที่มากับผู้ประมูล 2. ร้านค้าที่อยู่ในท้องถิ่น

ในส่วนที่ 3 เมื่อเปิดให้เอกชนเข้ามาประมูลงาน ผู้ค้าจึงต้องจ่ายค่าเช่าแผงและมีค่าใช้จ่ายอื่นๆอันเป็นต้นทุนที่ไม่รวมกับค่าต้นทุนสินค้า-แรงงาน-ค่าน้ำค่าไฟ ก่อนจะตั้งราคาขายกับผู้บริโภค จะถูกจะแพง ขึ้นกับส่วนนี้ และเป็นปัญหาขึ้นในการจัดงานทุกๆปี ที่ในโลกโซเชี่ยล จะมีเสียงบ่นจากคนไปเที่ยวงาน ตั้งแต่ ค่าข้าวที่แพงมาก ไปจนถึงข้าวหลามที่แพงลิบ ไม่รวมถึงอัตราค่าเช่าแผง/ล็อกพื้นที่ ของบรรดาผู้ค้าต่างๆ ในอัตราหลายหมื่นบาท และจนถึงบัดนี้ก็ยังไม่มีหน่วยงานออกมาชี้แจงได้ชัดเจนว่า รายได้ในส่วนดังกล่าวไปอยู่ที่ไหน อย่างไร?

โดยในระยะหลังๆนี้ วงในระบุว่า ผู้เข้าประมูลงานในส่วนที่ 2 ซึ่งเข้าประมูลกับหน่วยงานผู้จัดจ้าง และ ในส่วนที่ 3 ได้เปลี่ยนแปลงหน้าค่าตาไปจากรายเดิมๆที่เคยผูกขาด มาเป็นคนนอก ทั้งที่มาจากกทม. และมาจากพื้นที่จังหวัดสงขลาอยู่บ่อยครั้ง

สรุปได้ว่า รูปแบบการบริหารจัดการงาน ได้ต่างไปจากอดีตอย่างถาวร

สำหรับใครที่ถวิลหาบรรยากาศของการจัด “งานเหลิมฯ” หรือ “งานหลองรัฐ” (ชื่อที่เรียกติดปากกันในอดีต) คงต้องทำใจ เพราะคงไม่มีให้เห็นอีกแล้ว

แต่ก็จะย้อนรำลึกกันสัดนิดกับ “งานฉลองรัฐธรรมนูญและงานกาชาดจังหวัดตรัง : งานประจำปีที่เป็นเอกลักษณ์ของเมืองตรัง” ที่เป็นตำนาน

ประดิษฐานรัฐธรรมนูญจำลองไว้ในโรงประรำภายในงาน

ในความเป็นมาของงานฉลองรัฐธรรมนูญ ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 และจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป ในปี พ.ศ.2476 รัฐบาลได้จัดให้มีการจำลองรัฐธรรมนูญและมอบให้ผู้แทนราษฎรนำไปประดิษฐาน ณ หน้าศาลากลางจังหวัดทุกจังหวัด

ในครั้งนั้น นายจัง จริงจิตร ผู้แทนราษฎรคนแรกของจังหวัดตรัง ได้นำรัฐธรรมนูญฉบับจำลองมาจังหวัดตรัง เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2476 ผู้ว่าราชการในสมัยนั้นได้จัดข้าราชการ นักเรียนและประชาชนไปต้อนรับที่สถานีรถไฟตรัง แล้วนำมาประดิษฐานไว้หน้าศาลากลางจังหวัดและจัดให้มีงานเฉลิมฉลอง เป็นเวลา 3 วัน 3 คืน

“งานฉลองรัฐธรรมนูญและงานกาชาดจังหวัดตรัง” เป็นงานประจำปีที่เป็นเอกลักษณ์ของเมืองตรัง โดยเริ่มจัดงานครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2476 ที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดตรัง (หลังเดิม) โดยใช้ชื่องานว่า  “งานฉลองรัฐธรรมนูญ” เป็นการจัดงานเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไทย ที่ได้นำมาประดิษฐาน ณ จังหวัดตรัง และในปีต่อ ๆ มาได้มีการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญมาอย่างต่อเนื่อง

ต่อมาในปี พ.ศ.2483 ได้มีการปรับเปลี่ยนชื่องานเป็น “งานเฉลิมพระชนมพรรษาและงานฉลองรัฐธรรมนูญ” เพื่อเฉลิมฉลองในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รวมทั้งได้ปรับรูปแบบการจัดงานให้เหมาะสมกับยุคสมัย

การออกร้านและกิจกรรมของหน่วยงานและบรรดานักเรียนในงานฉลองรัฐธรรมนูญในอดีต

.

จนในปัจจุบันใช้ชื่องานว่า “งานฉลองรัฐธรรมนูญและงานกาชาด” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระลึกถึงการพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยครั้งแรก ตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเพื่อเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีต่อพสกนิกรชาวตรัง รวมทั้งเพื่อให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยมีการออกร้านของหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ รวมทั้งการออกร้านกาชาดเพื่อการกุศล

ในอดีต ผู้คนชาวตรังหลั่งไหลกันมาเที่ยวงานจากทุกหัวระแหง ทุกตำบล ทุกหมู่บ้าน เหมารถติดรถกันมา รวมถึงชาวบ้านจากจังหวัดใกล้เคียง ไม่ว่าจะเป็น กระบี่ พัทลุง สตูล ต่างก็มาเที่ยว “งานเหลิม” “งานหลองรัฐฯ” พ่อแม่ผู้ปกครองจูงมือบุตรหลาน นักเรียนนักศึกษามาออกร้านเพื่อหารายได้ มาขายของ บ้างก็ปูเสื่อนั่ง-นอนชมมหรสพพื้นบ้าน หนังตะลุง มโนราห์ การแสดงดนตรีของโรงเรียนต่างๆ ส่วนวัยรุ่นก็มาเดินเล่นแล้วไปดูหนังต่อที่วิกหนัง ทั้ง “วิกคิงส์ “วิกเฉลิมตรัง” “วิกเฉลิมรัฐ” หรือ “วิกลิโด้” โดยเฉพาะ “วิกตรังรามา” ซึ่งช่วง “งานเหลิม” บรรดาโรงหนังต่างๆจะคัดหนังดีๆมาฉายแข่งกันรอบดึก 10 วัน 10 คืน

ต่างจากทุกวันนี้ที่มีคาราวานสินค้าเร่เป็นส่วนใหญ่ มีเวทีคอนเสิร์ตเสียงอึกทึกกึกก้อง สถานที่จัดงานมีถนนเส้นเดียวผ่าน ทำให้รถติดยาวเหยียด ในบางปีมีกลุ่มคนลึกลับคอยเก็บค่าจอดรถบนถนนสาธารณะ สินค้า ของกิน ราคาแพงกว่าปกติ และที่สำคัญ เรื่องราวของ “รัฐธรรมนูญ” อันเป็นรากเหง้าแก่นสารของการจัดงาน ได้ลบเลือนไป

สายน้ำมิอาจไหลหวนคืนกลับ ร่องรอยของอดีต กว่า 89 ปีล่วงมา แม้นมีการบันทึกไว้ แต่ก็มิอาจหวนคืน น่าเสียดายที่เด็กเยาวชนคนรุ่นใหม่ มิอาจซึมซับหลักการ บรรยากาศของการจัดงานอันทรงคุณค่าแบบมีแก่นแท้ ได้อีกในยุคปัจจุบัน

.

.

ข้อมูลประกอบ :

หอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ตรัง

คณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. วัฒนธรรมพัฒนาการทาง ประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดตรัง. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, ๒๕๔๔.

ถนอม พูนวงศ์.  ประวัติศาสตร์เมืองตรัง. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์, ๒๕๖๐. 

สยามรัฐออนไลน์. (๒๕๖๓, กันยายน ๒๘). ตรังเตรียมจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญและกาชาด สืบค้นจาก https://siamrath.co.th/n/185512

ที่มาภาพ : 

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จาก https://www.thairath.co.th/news/politic/1658955

บรรยากาศงานงานฉลองรัฐธรรมนูญฯ http://oknation.nationtv.tv/blog/print.php?id=366455

บรรยากาศงานงานฉลองรัฐธรรมนูญฯ จากเพจอยู่บ้านเรา ไม่ขึ้นเขาก็ลงเล

หอจดหมายแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ตรัง

Share:

Share on facebook
Facebook
Share on pinterest
Pinterest

Social Media

Most Popular

Categories

ชาวตรังโวย! จัดงานคาราวานสินค้าปิดศาลากลาง10วัน10คืน แย่งกำลังซื้อท้องถิ่น อ่วมเก็บค่าเช่าที่ 1.5-1.8 หมื่น โซเชี่ยลสงสัยเงินเข้ากระเป๋าใคร วอนหน่วยงานตรวจสอบ

ตรัง-ชาวตรังโวย! จัดงานคาราวานสินค้าปิดศาลากลาง10วัน10คืน ฟรีคอนเสิร์ตอลังการณ์ แย่งกำลังซื้อท้องถิ่น ทำเดือดร้อนรถติด-ไม่มีที่จอดติดต่อราชการ แม่ค้าเผย อ่วมเก็บค่าเช่าที่บูธละ 1.5-1.8 หมื่น ค่าไฟดวงละ40/วัน ศก.ไม่ดีขาดทุนทุกงาน โซเชี่ยลสงสัยเงินเข้ากระเป๋าใคร จี้แจงรายรับ-รายจ่าย ไม่พบข้อมูลจัดจ้างบนเว็บพช. วอนหน่วยงานตรวจสอบด่วน เก็บค่าเช่าบนที่หลวง เผย ผู้ว่าฯนั่งหัวโต๊ะอนุมัติใช้พื้นที่

ชวนเที่ยว Trang Art&Craft 6-8 ก.ย. เปิด “มะนิลาค่าเฟ่” ค่าเฟ่วินเทจ บ้านโบราณร้อยปี ฟังดนตรีกลางสายฝน โชว์พิเศษ “จ๊อบทูดู” เร็กเก้ชื่อดัง

ตรัง-ททท.สำนักงานตรัง เปิดคาเฟ่วินเทจสไตล์บ้านโบราณอายุ 100 ปี เตรียมจัดงาน ‘Trang Art & Craft: Sounds of Rain, Colors of Art’ ชวนฟังดนตรีกลางสายฝน เล่นซนงานศิลป์ 6-8 ก.ย.นี้ หนุนงานฝีมือ เมนูเลิศรส กระตุ้นเศรษฐกิจ ชูเมืองน่าเที่ยว โชว์พิเศษ “จ๊อบทูดู” เร็กเก้ชื่อดัง

แห่สมัครสมาชิกพรรคปชช.ตรัง คึกคัก! แกนนำลั่นพร้อมตั้งสาขาใน 6 เดือน ลุยเลือกตั้งปี 70 เชื่อสานอุดมการณ์-ทำงานหนัก รอบหน้าได้ส.ส.แน่

ตรัง-แห่สมัครสมาชิกพรรคประชาชนจังหวัดตรัง คึกคัก! หลังกทม.กวาดยอดทะลุเป้า แกนนำเผยเชื่อมือกก.บห.ชุดใหม่ พร้อมตั้งสาขาพรรคใน 6 เดือน ลุยเลือกตั้งปี 70 เชื่อสานอุดมการณ์-ทำงานหนักรอบหน้าได้ส.ส.เมืองตรังแน่ ยกเคยกวาดบัญชีรายชื่อที่1รอบก่อน ชาวบ้านโอดพรรคถูกกระทำ เผย ชอบนโยบายก้าวหน้า พูดตรง พูดจริง ยังหนุนแก้ม. 112 แบบไม่ล้มล้างการปกครอง

ค้นหาหัวข้อข่าวที่คุณสนใจ

Generic selectors
Exact matches only
Search in title
Search in content
Post Type Selectors