สำหรับการออกแบบพื้นที่ใช้สอย บริษัทที่ปรึกษาฯ ได้นำเสนอ ประกอบด้วย 1.อุทยานการเรียนรู้ Thailand Knowledge Park หรือ TK Park 2. ศูนย์แสดงศิลปวัฒนธรรมเอนกประสงค์ 3.ลานกิจกรรม/นิทรรศการหมุนเวียน 4.ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้า 5. ศูนย์การเรียนรู้ในภูมิภาคฯ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ RCE 6. พิพิธภัณฑ์นครตรัง (พระยารัษฎานุประดิษฐ์ มหิศรภักดี) และ 7. สำนักงานการศึกษา (ส่วนส่งเสริมการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม)
.
เมื่อวันที่ 14 พ.ย.2565 ที่โรงแรมวัฒนา พาร์ค นายภูวนัฐ สมใจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โครงการออกแบบปรับปรุงตกแต่งอาคารศูนย์แสดงศิลปวัฒนธรรมพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี หลังถูกทิ้งร้างนานหลายปี โดยมี ดร.สัญญา ศรีวิเชียร นายกเทศมนตรีนครตรัง กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดประชุมครังนี้
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากการก่อสร้างอาคารแสดงศิลปวัฒนธรรมพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี ได้ดำเนินการมา 2 ระยะ ซึ่งปัจจุบันอาคารดังกล่าวยังไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ เนื่องจากในการใช้งบประมาณเพื่อการก่อสร้างที่ผ่านมา เป็นเพียงโครงสร้างอาคาร เทศบาลนครตรังจึงได้จัดสรรงบประมาณ และ ได้ว่าจ้างให้บริษัท ดีไว พลัส จำกัด เป็นที่ปรึกษาในโครงการจ้างที่ปรึกษาออกแบบปรับปรุงตกแต่งอาคารศูนย์แสดงศิลปวัฒนธรรมพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี โดยเริ่มปฏิบัติงาน ตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2565 ถึงวันที่ 22 กันยายน 2566 ระยะเวลา 360 วัน เพื่อให้การออกแบบปรับปรุงอาคาร พร้อมออกแบบการตกแต่งภายในอาคารและบริเวณโดยรอบพื้นที่อาคารศูนย์แสดงศิลปวัฒนธรรมฯ ให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และเกิดประโยชน์สูงสุด จึงมีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดย “ที่ปรึกษาออกแบบ” ต้องจัดให้มีการรับฟังความเห็นของประชาชนผู้มีส่วนร่วมเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่จำเป็น โดยจะนำไปใช้ประโยชน์ในการออกแบบต่อไป
โดยครั้งนี้มีประชาชนผู้มีส่วนร่วมที่หลากหลาย เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มนักเรียนนักศึกษา กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจการค้า กลุ่มผู้นำชุมชนต่าง ๆ ในเขตเทศบาล กลุ่มศิลปินแขนงต่าง ๆ ในพื้นที่จังหวัดตรัง กลุ่มองค์กรวิชาชีพต่าง ๆ ในพื้นที่ และอื่น ๆ เข้าร่วม ภายใต้แนวคิดในการออกแบบศูนย์แสดงศิลปวัฒนธรรม พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี
.
สำหรับการพัฒนาเมืองวิถีใหม่ สำหรับการออกแบบพื้นที่ใช้สอย บริษัทที่ปรึกษาฯ ได้นำเสนอ ประกอบด้วย
1.อุทยานการเรียนรู้ Thailand Knowledge Park หรือ TK Park
2. ศูนย์แสดงศิลปวัฒนธรรมเอนกประสงค์
3.ลานกิจกรรม/นิทรรศการหมุนเวียน
4.ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้า
5. ศูนย์การเรียนรู้ในภูมิภาคฯ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ RCE
6. พิพิธภัณฑ์นครตรัง (พระยารัษฎานุประดิษฐ์ มหิศรภักดี)
7. สำนักงานการศึกษา (ส่วนส่งเสริมการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม)
อย่างไรก็ตามในวันนี้ผู้เข้าร่วมประชุมได้เสนอแนะข้อคิดเห็นที่หลากหลาย ซึ่งหลังจากนี้บริษัทที่ปรึกษาจะรวบรวมและนำไปออกแบบรายละเอียด เพื่อให้สามารถพื้นที่ใช้สอยอาคารศูนย์แสดงศิลปวัฒนธรรม พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี ได้อย่างคุ่มค่า และเกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา สำนักงานป.ป.ช.จังหวัดตรัง เครือข่ายภาคประชาชน และ ชมรมตรังต้านโกง รวมถึงสื่อมวลชน ได้ร่วมติดตามการดำเนินโครงการก่อสร้างศูนย์แสดงศิลปวัฒนธรรมพระยารัษฎานุประดิษฐ์ นำโดยนายราม วสุธนภิญโญ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.จังหวัดตรัง นายยุทธนา วิมลเมือง เจ้าพนักงานป้องกันการทุจริตชำนาญการป.ป.ช.ตรัง และนายชัยวุฒิ สวัสดิรักษ์ ประธานชมรมตรังต้านโกง สืบเนื่องจากมีการตั้งข้อสอบถามในโลกสังคมออนไลน์เกี่ยวกับอาคารศูนย์แสดงศิลปวัฒนธรรมพระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ ที่ปล่อยทิ้งร้าง นานกว่า 6 ปี ซึ่งการก่อสร้างล่าช้ามีปัจจัยหลายด้าน อาทิ ขนาดอาคารใหญ่ใช้งบประมาณจำนวนมาก , มีข้อจำกัดการใช้ประโยชน์ของที่ดิน และความต่อเนื่องของผู้บริหารเทศบาลนครตรัง ทั้งนี้ด้วยงบประมาณที่ไม่ได้เป็นเงินก้อนเดียวก้อนใหญ่ ทำให้การออกแบบการก่อสร้างจะต้องคำนึงให้ครอบคลุมจำนวนเงินที่มีอยู่ แบ่งดำเนินการเป็นระยะๆ โดยดำเนินมาแล้ว 2 ระยะ ระยะแรก ดำเนินการก่อสร้างเฉพาะโครงสร้างภายนอก ระยะที่ 2 ดำเนินการโครงสร้างงานผนัง-ผิวหนัง งานผิวพื้น งานหลังคา งานระบบไฟฟ้า และงานระบบประปา-สุขาภิบาล ทั้งนี้ในระยะที่ 3 เทศบาลนครตรังได้ตั้งงบประมาณเพื่อดำเนินการต่อให้แล้วเสร็จอีกกว่า 300 ล้านบาท แบ่งเป็น งบจากกลุ่มจังหวัดอันดามัน และงบประมาณของเทศบาลเอง