ย้อนวันวานเมืองเก่าตรัง@ทับเที่ยง ชุมชนร้อยปี การค้า-เชื่อมเมืองท่าอันดามัน สยาม-ปีนัง “พระยารัษฎาฯ” วางรากฐาน ลือเลื่องอาหารการกิน เศรษฐกิจยุคทองของยางพารา ชุมชนเมืองเก่าทับเที่ยง นำเสนอเมนู “ต้มหลุกหมี” เมนูชื่อมีหมี แต่ไม่มีหมีเป็นส่วนประกอบ และ ชมลีลา “จาโก้ย อีโต้บิน” การแสดงนิทรรศการภาพถ่ายเมืองเก่า และกิจกรรมนั่งรถชมเมืองเก่า
.
เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2565 เวลา 18.30 น. นายบุ่นเล้ง โล่สถาพรพิพิธ นายก อบจ.ตรัง เป็นประธานในพิธีเปิด “งานย้อนวันวานเมืองเก่า@ทับเที่ยง” ตามโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองเก่าตรัง ประจำปี 2565 ณ ลานวัฒนธรรมนครตรัง และบริเวณอาคารสโมสรข้าราชการจังหวัตตรัง(1 ใน 20 โบราณสถานจังหวัดตรัง) ต.ทับเที่ยง อ.เมือง จ.ตรัง โดยมีรองนายกเทศมนตรีนครตรัง ปลัดอาวุโส อำเภอเมืองตรัง ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดตรัง ผอ.การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานตรัง(ททท.ตรัง) ประธานชุมชนเมืองเก่าทับเที่ยง พร้อมด้วยประธานและคณะกรรมการชุมชนเมืองเก่าอีก 4 อำเภอของจังหวัดตรัง ผู้บริหาร อบจ.ตรัง ประธานสภาอบจ.ตรัง สมาชิกสภา อบจ.ตรัง ปลัด อบจ.ตรัง และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และประชาชนเข้าร่วม งานดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยว และบริการในพื้นที่ชุมชนเมืองเก่าจังหวัดตรัง เป็นการประชาสัมพันธ์ กิจกรรมการท่องเที่ยวเมืองเก่าตรัง ให้เป็นที่รู้จัก ทั้งยังเป็นการร่วมกันอนุรักษ์เมืองเก่า และสืบทอดวัฒนธรรมอันเก่าแก่
.
ภายในงานมีการสาธิตอาหารชาติพันธุ์และอาหารพื้นถิ่น 3 วัน 9 เมนู ให้ผู้เข้าร่วมงานชิมฟรี มีอาหารพื้นถิ่น ซึ่งชุมชนเมืองเก่าทับเที่ยงได้ทำเสนอเมนูแปลก “ต้มหลุกหมี” เป็นอาหารของชาวจีนแคะ หรือ ชาวจีนฮากกา นิยมทำกินกันในครอบครัวชาวจีน มีรสหวานหอมชื่นใจ มีส่วนผสมของเครื่องตุ๋นยาจีน ฟักเชื่อม ลำไยแห้ง พุทราแดง ลูกพลับแห้ง ไข่นกกระทา ลองชิมรสชาติคล้ายกับเต้าทึง เป็นอาหารมีฤทธิ์เย็น ใช้สำหรับบำรุงร่างกายได้ทุกวัย ในขณะที่ผู้ร่วมงานยังได้ชมลีลาการทอดจาโก้ย (หรือปาท่องโก๋) โดยนายชโยโดม พงศ์ปิ่น เจ้าของร้านโชว์ควงมีดอีโต้ สับแป้งปาท่องโก๋ ซึ่งก็สร้างความตื่นเต้นหวานเสียวให้ลูกค้าอีกด้วย งานจัดระหว่างวันที่ 2-4 กันยายน 65 ตั้งแต่เวลา 15.00 – 21.00 น.
.
ทั้งนี้ สำหรับ “ทับเที่ยง” หรือ “ตำบลทับเที่ยง” อำเภอเมือง จังหวัดตรัง เลื่องลือทั้งเรื่องอาหารการกิน ความสงบ เรียบง่าย เป็นเมืองการค้าการขายมาแต่โบราณ “คนทับเที่ยง” สนใจเหตุบ้านการเมือง มี “สภากาแฟ” ยามเช้าที่นอกจากเอาไว้รองท้องก่อนเริ่มวันแล้ว ยังเป็นที่พูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร เหตุบ้านการเมือง มี “ตุ๊กตุ๊กหัวกบ” อันเป็นมนต์เสน่ห์ และเป็นเอกลักษณ์ มีชุมชนย่อยๆ มากมายที่มีตำนานและเรื่องราว กล่าวคือ โดยหลังจากเสร็จสงครามโลกครั้งที่ 1 ไม่นาน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 เสด็จฯ จังหวัดตรัง ถือเป็นการเสด็จฯ ครั้งที่ 2 ได้ทรงทำพิธีเปิดโรงเรียนเพราะปัญญา และพระราชทานพระแสงราชศัสตราประจำเมืองตรัง
ตำบลทับเที่ยงที่อยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดิน เป็นเมืองเก่ามีประวัติการตั้งถิ่นฐานมากว่า 200 ปี และเป็นชุมทางการค้าที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของภาคใต้ โดยเฉพาะหลังจากที่มีการย้ายศูนย์การปกครองจากกันตังมาที่ทับเที่ยงในปีพ.ศ. 2458 หรือเมื่อ 100 กว่าปีก่อน โดยมี พระยารัษฎานุประดิษฐมหิศรภักดี (คอซิมบี๊ ณ ระนอง) เจ้าเมืองตรังผู้ล่วงลับก่อนการย้ายเมืองเพียงสองปี เป็นผู้วางรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมจนลือเลื่องไปถึงหัวเมืองมลายูและปีนัง อีกทั้งความต้องการสินค้ายางพาราในตลาดโลกก็ยิ่งทำให้เศรษฐกิจเมืองตรังเฟื่องฟูขึ้นเรื่อยๆ
.
ด้วยหลังจากรัชกาลที่ 6 เสด็จฯ กลับในครั้งนั้น สมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต ได้กราบบังคมทูลขอย้ายที่ตั้งเมืองตรังมายัง “ตำบลทับเที่ยง” อำเภอบางรักในขณะนั้น ด้วยเหตุผลหลายประการ ได้แก่ ที่กันตังไม่ปลอดภัยจากการศึกสงคราม เพราะในขณะนั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ทั้งยังเกี่ยวกับโรคระบาดเนื่องจากเป็นที่ลุ่ม รวมทั้งพื้นที่คับแคบขยายเมืองได้ยาก และอีกหลายเหตุผลสำคัญ ที่สำคัญ “ตำบลทับเที่ยง” เป็นย่านการค้าขายที่มีความเจริญอยู่เดิม และมีชัยภูมิอยู่จุดศูนย์กลาง เหมาะแก่การปกครอง การย้ายเมืองจึงได้รับพระบรมราชานุญาต และดำเนินการเรียบร้อยเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2458 และ “ทับเที่ยง” ได้เป็นที่ตั้งของ “เมืองตรัง” สืบมาจนปัจจุบัน
.
“เมืองทับเที่ยง” ซึ่งเป็นเมืองเล็กๆ ของจังหวัดตรัง แต่กลับมีเสน่ห์มากมาย ทั้งตึกรามบ้านช่องที่ได้รับอิทธิพลมาจากการผสมผสานในแบบ “จีน” กับ “ยุคอาณานิคมอังกฤษ” หลายคนเรียกคุ้นปากว่า “ชิโนโปรตุกีส” อาหารการกิน ประเพณีวัฒนธรรม โดยเฉพาะวิถีชีวิตที่เรียบง่าย ในภาพความทรงจำของแต่ละคนอาจมีความแตกต่างกันไป แต่เชื่อว่าภาพความทรงจำหลายส่วนสำหรับผู้เคยมาเยือนที่แห่งนี้ ล้วนเป็นความทรงจำที่ตราตรึง และทรงคุณค่า
.
“ทับเที่ยง” เลื่องลือทั้งเรื่องความสงบ เรียบง่าย แต่เป็นเมืองการค้าการขายมาแต่โบราณ “คนทับเที่ยง” สนใจเหตุบ้านการเมือง มี“สภากาแฟ” ยามเช้าที่นอกจากเอาไว้รองท้องก่อนเริ่มวันแล้ว ยังเป็นที่พูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร เหตุบ้านการเมือง มี “ตุ๊กตุ๊กหัวกบ” อันเป็นมนต์เสน่ห์ และเป็นเอกลักษณ์ มีชุมชนย่อยๆ มากมายที่มีตำนานและเรื่องราว มีสถานที่ที่เป็นความทรงจำของผู้คนร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น “โรงหนัง” “หอนาฬิกา” “ลำคลองที่ตัดผ่านเป็นโครงข่าย” “เนิน” หรือ “ควน” ที่บ่งบอกเรื่องราว มี“ชมรม” มี “สมาคม” ของทุกศาสนาที่อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข พึ่งพา และเกื้อกูลกันมายาวนาน
.
“คนทับเที่ยง” มีความตื่นตัวด้านการศึกษาไม่น้อย เดิมที่กันตังมีโรงเรียนตรังภูมิ เป็นโรงเรียนตัวอย่างประจำจังหวัด ซึ่งเป็นรุ่นเดียวกับโรงเรียนสุทธิโพธิ์บำรุง ที่วัดโพธาราม ต่อมา พ.ศ.2454 เริ่มมีการตั้งโรงเรียนขึ้นตามวัด รวมทั้งตามชุมชนรอบ “ทับเที่ยง” ได้แก่ วัดโคกหล่อ วัดควนขัน วัดแจ้ง จนเมื่อ พ.ศ.2456 สมเด็จพระศรีพัชรินทรา พระพันปีหลวง เสด็จฯ จังหวัดตรัง พระราชทานเงินสร้างโรงเรียนขึ้นที่ “ตำบลทับเที่ยง”พระราชทานนามว่า “โรงเรียนวิเชียรมาตุ” เมื่อตอนย้ายเมืองโรงเรียนได้สร้างเสร็จพอดี จึงได้โอนนักเรียนจากโรงเรียนตรังคภูมิ์มา และเมื่อ พ.ศ.2460 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เสด็จฯ เมืองตรังอีกครั้งหนึ่ง ได้ทรงทำพิธีเปิด “โรงเรียนวิเชียรมาตุ”
.
อีกด้านหนึ่งบรรดาพ่อค้าจีนใน “ทับเที่ยง” ได้รวมตัวกันเป็นปึกแผ่น และได้ร่วมกันก่อตั้งโรงเรียนสอนภาษาจีนแห่งแรกชื่อ “ซันวาฮกเกา” ขึ้นใน พ.ศ.2462 โดยมีโรงเรียนในเครือซึ่งสืบทอดมาจนปัจจุบันคือ “โรงเรียนทับเที่ยงฮั่วเฉียว” และ “โรงเรียนตรังวิทยา” นอกจากนี้ ชาวจีนในตรังยังนิยมส่งบุตรหลานไปเรียนชั้นสูงที่ “เกาะหมาก” หรือ “ปีนัง” เพราะการคมนาคมทางเรืองสะดวก มีเรือเมล์เดินทางประจำระหว่าง “กันตัง-ปีนัง” ในยุคนั้น ต่อมา เมื่อมี “เทศบาลเมืองทับเที่ยง” ทางเทศบาลได้จัดตั้งโรงเรียนขึ้นที่ “วัดควนวิเศษ” เป็น “โรงเรียนเทศบาล 1” จากนั้นต่อมาจึงตั้งที่ “วัดกระพัง” อีกโรงหนึ่ง
.
“ทับเที่ยง” ขึ้นชื่อว่าเป็น “เมืองคนช่างกิน” ในยุคนี้ที่ “เรื่องราว” อร่อยพอๆ กับ“รสชาติ” ดังนั้น อันดับแรกคือ ต้องมากิน มาลิ้มรส มาสัมผัสบรรยากาศที่ตรัง เพราะบางอย่าง เช่น “หมูย่างเหมืองตรัง” ซื้อไปกินกรุงเทพฯ ก็ไม่เหมือนกับกินที่ตรัง การกินน้ำชากินที่กรุงเทพฯ ก็ไม่เหมือน เพราะเป็นการเสพในเรื่องของเรื่องราวไปด้วย ดังตัวอย่างของ “อาหาร” ที่บอก “เรื่องราว” โดยเมื่อปี 2557 กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ได้สำรวจพร้อมขึ้นทะเบียน “หมูย่างเมืองตรัง” เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือที่เรียกว่า GI คือ ทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่ง ที่เป็นการให้ความคุ้มครองชื่อหรือสัญลักษณ์ หรือสิ่งที่บ่งบอกแหล่งผลิตสินค้าด้วยลักษณะเฉพาะทางภูมิศาสตร์ ประกอบทักษะ ความชำนาญ และภูมิปัญญาของมนุษย์ ในการผลิตสินค้าตามกระบวนการที่เหมาะสม เปรียบเสมือนเป็นเครื่องมือทางการตลาดคือ “แบรนด์ชุมชน”
.
“หมูย่างเมืองตรัง” เป็นเมนูบ่งบอกทางภูมิศาสตร์ เนื่องจากทั้งสายพันธุ์ที่ท้องถิ่นเรียกกันว่า “หมูขี้พร้า” ไม่เพียงเท่านั้น ทั้งสภาพภูมิอากาศ ความชื้นของเมืองตรังที่ร้อนชื้นพอดี ได้ส่งผลต่อการเลี้ยงหมูให้มีลักษณะเฉพาะที่ไม่เหมือนที่แห่งใดคือ เนื้อดี มันพอดี หนังบางอย่างอัศจรรย์ แม้บางครั้งจะไม่ใช้หมูขี้พร้า แต่หมูอื่นๆ ไม่ว่าพันธุ์ไหนก็จะต้องเลี้ยงในแถบตรัง-พัทลุง ที่สำคัญการใช้ไม้ยางพาราเป็นเชื้อเพลิงจะให้กลิ่นหอมเฉพาะตัว ซึ่งดัดแปลงมาจากสูตรเดิมของจีนกวางตุ้งที่ใช้เชื้อเพลงอย่างอื่น เพราะตรังปลูกยางพาราเยอะ การขุดหลุมเพื่อทำเตาย่างเป็นการให้อุณหภูมิแบบเฉพาะ การย่างหมูย่างเมืองตรังแบบดั้งเดิม ทั้งกระบวนการใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 20 ชั่วโมง โดยมีกระบวนการซับซ้อนมากมาย