“ตรัง” น้ำยางสดวันเดียวราคาดิ่งผิดปกติ ลบ 3 บาท หลังทยอยลดวันละบาททุกวัน คาด ลงต่ำถึงกิโลฯละ 37 บาท ชาวสวนยางบ่นของแพง รายได้ลด รายจ่ายพุ่งพรวด แม้มีโครงการคนละครึ่ง แต่อยากได้เศรษฐกิจที่ดีมากกว่า เผยเหตุ โควิดคลี่คลาย ความต้องการถุงมือยางลดลง ยักษ์ใหญ่วงการยาง ยอดตก
.
เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดตรัง ว่า ภาพรวมราคาน้ำยางสด ลดลงวันเดียว 3 บาท ซึ่งราคารับซื้อน้ำยางลดในหลายจังหวัดของภาคใต้ราคาลดลงเหลือกิโลกรัมละ 39-40 บาท เท่านั้น เช่น ในจังหวัดนครศรีธรรมราช ราคากิโลกรัมละ 39-40 บาท , จังหวัดพัทลุง ราคากิโลกรัมละ 40 บาท และ จังหวัดสุราษฏร์ธานี ราคากิโลกรัมละ 40 บาท
.
สำหรับบรรยากาศจุดรับซื้อน้ำยางสดในพื้นที่ ต.ควนธานี อ.กันตัง จ.ตรัง ค่อนข้างเงียบเหงา เนื่องจากเกิดฝนตกต่อเนื่องมาหลายวัน ในขณะที่ราคาน้ำยางสดราคาลดลงต่อเนื่องติดต่อกันมา 4 วันแล้ว โดยราคาลดลงวันละ 1 บาท โดยวันนี้ราคาน้ำยางสดที่จุดรับซื้อ ราคากิโลกรัมละ 41-42 บาท เท่านั้น ในขณะที่ชาวบ้านที่นำน้ำยางสดมาขาย สะท้อนปัญหาราคายางตกต่ำ ซึ่งสวนทางกับราคาข้าวของที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ราคาน้ำมัน ราคาสินค้าบริโภค
.
ด้านจุดรับซื้อน้ำยางล้านบางหมากน้อย ม.6 ต.ควนธานี อ.กันตัง จ.ตรัง นายวาสนา คงที่ เกษตรกรผู้นำน้ำยางสดมาขาย กล่าวว่า ตนขายน้ำยางสดได้วันนี่ราคา กิโลกรัมละ 42 บาท ซึ่งลดลงกว่าเมื่อวาน และ ราคาลดลงต่อเนื่องมา 4 วันแล้ว โดยมีรายได้หลังแบ่งกับเจ้าของสวนยางพารา วันละประมาณ 300 บาท ซึ่งตอนนี้ลำบากเพราะราคาของกินของใช้มีราคาแพงขึ้น น้ำมันก็ราคาแพงขึ้น ทุกวันนี้ตนต้องเติมน้ำมันรถเพื่อมากรีดยางในราคาที่แพงขึ้น รายได้บางวันไม่พอกับรายจ่าย ทั้งกับข้าว ของใช้ ก็แพงไปหมด
นายสมญา สูเหตุ พ่อค้ารับซื้อน้ำยางสด กล่าวว่า ช่วงต้นปี 65 ราคาน้ำยางสดมีราคา 64-65 บาทต่อกิโลกรัม แต่มาตอนนี้ราคาลดลงเรื่อยๆ แนวโน้มคงจะราคาลดลงอีก อีกอย่างพ่อค้าคนกลางอย่างตน และ เกษตรกร ไม่ได้รู้กลไกการตลาดเหมือนกับนักลงทุนหรือโรงงานอุตสาหกรรมรายใหญ่ จริงๆแล้วราคาถูกหรือแพงเกษตรกรเขาก็ต้องกรีด เพราะเป็นอาชีพดั้งเดิม ให้ไปทำอย่างอื่นคงไม่ถนัด ส่วนผู้ซื้อก็รับราคาซื้อขายตามประกาศของโรงงานแปลรูป ผลกระทบนอกจากรายได้ที่น้อยลง ยังกระทบกับภาวะจิตใจของคนกรีดยางด้วย
.
เช่นเดียวกับจุดรับซื้อน้ำยางริมถนนตรัง-กันตัง ชาวบ้านนำน้ำยางสดมาขายค่อนข้างบางตา โดยเกษตรกรที่มาขายน้ำยางได้พูดคุยถึงเรื่องเศรษฐกิจปากท้องที่แย่ลง รวมทั้งการบริหารงานของรัฐบาล ที่ปล่อยให้ราคาข้าวข้องแพงขึ้น ซึ่งแม่จะมีโครงการคนละครึ่งออกมา แต่ชาวบ้านยังคาดหวังให้เศรษฐกิจดีขึ้น
.
นายประจวบ นวลพงศ์ เกษตรผู้นำน้ำยางสดมาขาย กล่าวว่า วันนี้ตนขายน้ำยางสดได้ราคากิโลกรัมละ 41 บาท ซึ่งลดลงกว่าเมื่อวาน (31 สิงหาคม 65) จำนวน 1 บาท ยอมรับว่าทุกวันนี้ใช้ชีวิตลำบากกว่าเมื่อก่อน ครอบครัวตนอยู่ด้วยกัน 4 คน มีรายจ่ายต่อวันราว 400 บาท ในขณะเดียวกันก็มีรายได้จากการกรีดยางวันละ 400 บาท เช่นกัน ในแต่ละวันจึ่งต้องกินต้องใช้อย่างประหยัด
.
ด้านนายธรรมดีศักดิ์ อั้นเต้ง พ่อค้ารับซื้อน้ำยางสด กล่าวว่า ราคาน้ำสดลงต่อเนื่องมา 4 วันแล้ว ก่อนหน้านี้ราคา 45 บาท ลงมาวันละ 1 บาทต่อ จนตอนนี้เหลือราคากิโลกรัมละ 41 บาท และคาดการณ์ว่าราคาจะลดลงอีกจนถึงกิโลกรัมละ 37 บาท หรืออาจจะน้อยกว่านั้น ซึ่งราคายางที่ลดลงก็ได้รับผลกระทบ ที่เห็นได้ชัดคือรายได้น้อยลงเยอะ ค่าใช้จ่าย ราคาสินค้าทั้งน้ำมัน ของกิน ของใช้ แพงขึ้นสวนทางกับรายได้ รายได้ไม่พอกับรายจ่าย ลูกค้าที่มาขายน้ำยางก็บ่นเหมือนกันทุกคน
.
รายงานข่าวจากวงการธุรกิจยางพาราแจ้งว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้ราคาน้ำยางสดดิ่งลงต่อเนื่อง จนอาจเข้าสู่สถานการณ์น้ำยาง 3 โลร้อยอีกครั้ง เป็นเหตุมาจากผลประกอบการและยอดขายผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสินค้าแปรรูปน้ำยางสด น้ำยางข้น ลดต่ำลงอย่างมากในไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 ของปี 2564 ที่ผ่านมา หลายโรงงานมีออเดอร์ลดลงอย่างมาก ยอดตกถึง 90 กว่าเปอร์เซนต์ ขณะที่มีการผลิตสินค้าไว้รอจำหน่ายแล้วจำนวนมาก เกิดภาวะความต้องการขายล้น เห็นได้จากปรากฏการณ์กำไรวูบที่เกิดขึ้นกับ 2 หุ้นแม่ลูกบริษัทยักษ์ใหญ่วงการยางประเทศไทย อันเป็นผลพวงจากปริมาณขายที่ลดลงอย่างมาก (จาก supply เพิ่มขึ้น) โดยราคาขายเฉลี่ยลดลงมาเหลือเพียง 25 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 1,000 ชิ้น หรือลดลงถึง 63% จากสถานการณ์โควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลาย ทำให้มีความต้องการถุงมือยางปรับลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จึงเป็นแรงกดดันต่อภาคการผลิตให้เริ่มมีการปรับลดประมาณการนำน้ำยางสดเข้าสู่ระบบ และกำลังการผลิตที่ลดลง ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำยางสดเป็นอย่างมาก