ตรัง-วัฒนธรรมจังหวัดตรัง จัดอบรมทอผ้ากี่โบราณ “ลายแก้วชิงดวง” ลายผ้าอัตลักษณ์จ.ตรัง สู่ “ภูษาศิลป์จากท้องถิ่นสู่สากล” เฉลิมพระเกียรติพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ช่างทอกี่โบราณ เผย ภูมิปัญญาบรรพชนสืบทอดยาวนาน ทรงคุณค่า มีราคา เพราะทอยาก-ซับซ้อน ในอดีตต้องผ่านถึง 100 ตระกรอ
วัฒนธรรมจังหวัดตรัง จัดโครงการถ่ายทอดองค์ความรู้มรดกภูมิปัญญาผ้าลายอัตลักษณ์ประจำจังหวัดตรัง “ลายแก้วชิงดวง” เรียนรู้การทอผ้ากี่โบราณก่อนจะเลือนหาย สู่ “ภูษาศิลป์จากท้องถิ่นสู่สากล” เฉลิมพระเกียรติพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ช่างทอกี่โบราณ เผย ภูมิปัญญาบรรพชนสืบทอดมายาวนาน ทรงคุณค่า มีราคาเพราะทอยาก-ซับซ้อน ในอดีตต้องผ่านถึง 100 ตระกรอ น่ายินดี หลังอบรมมีแววทอได้ถึง 4 คน แต่ยังติดปัญหา กี่โบราณมีน้อย ไม่เพียงพอฝึกสอน
ที่วิสาหกิจชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี ต.นาหมื่นศรี อ.นาโยง จ.ตรัง จ่าเอกพิรพร อุลิตผล วัฒนธรรมจังหวัดตรัง เป็นประธานเปิดโครงการถ่ายทอดองค์ความรู้มรดกภูมิปัญญาผ้าลายอัตลักษณ์ประจำจังหวัดตรัง “ลายแก้วชิงดวง” โดยนำข้าราชการสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดตรัง มาเรียนรู้วิธีทอผ้าลายแก้วชิงดวง โดยใช้หูกโบราณ ซึ่งสมาชิกวิสาหกิจชุมชนเป็นผู้ถ่ายทอดให้ โครงการดังกล่าวจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-24 มิถุนายน 2565
จ่าเอกพิรพร เปิดเผยว่า จังหวัดตรังมีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่หลากหลายสาขาและทรงคุณค่า โดยเฉพาะมรดกภูมิปัญญา ซึ่งเป็นผ้าทอพื้นบ้านที่มีชื่อเสียง สืบทอดกันมายาวนานและเป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลาย คือผ้าทอนาหมื่นศรี นับว่าเป็นแหล่งทอผ้าใหญ่ที่สุดของจังหวัดตรัง การทอผ้าของนาหมื่นศรีมีมาแต่โบราณ ตั้งแต่ยังไม่มีเส้นด้ายขายในตลาด ทุกบ้านมีหูกประจำบ้าน เพื่อทอผ้าใช้ในครัวเรือนสืบทอดต่อมาจนถึงปัจจุบัน และได้รับการคัดเลือกลายผ้าเป็นลายอัตลักษณ์ประจำจังหวัดตรัง ได้แก่ลายแก้วชิงดวง ซึ่งเป็นลายผ้าโบราณมีความสวยงาม และความซับซ้อนในการทอ ซึ่งลายแก้วชิงดวงเป็นลายผ้าที่จะใช้ในการจัดทำหนังสือภูษาศิลป์จากท้องถิ่นสู่สากล เนื่องในโอกาสพระชนม์พรรษา 90 พรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในวันที่ 12 สิงหาคม 2565 เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ที่ทรงพระวิริยะอุตสาหะปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ในการส่งเสริมเรื่องผ้าไทยและสิ่งทอท้องถิ่น ที่เกือบสูญหายไปให้กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง พร้อมยกระดับผ้าทอผ้าไทยให้มีความโดดเด่น และมีชื่อเสียงในเวทีโลก สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น ประกอบกับภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สามารถทอลายแก้วชิงดวงได้มีน้อยมาก หากไม่สืบสานต่อลายผ้านี้อาจสูญหายไปได้
ด้านนางสาวรุจิรา แท่นมาก ช่างทอผ้ากี่พื้นเมืองหรือกี่โบราณ สมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผ้าทอผ้าทอนาหมื่น กล่าวว่า ถือเป็นโครงการที่ดี ได้สอนให้เขาได้สืบทอดภูมิปัญญาผ้าทอนาหมื่นศรี ซึ่งทุกคนที่มาเรียนล้วนตั้งใจเรียน การทอผ้าแบบใช้กี่โบราณมีความยาก คือ ต้องใช้เวลานานในการทอผ้าแต่ละชิ้น ต้องขึ้นกราฟก่อน ต้องลงเตรียมขั้นตอนมาก ลายแก้วชิงดวงมีรายละเอียดมาก แต่ตอนนี้ปรับปรุงให้เก็บรายละเอียดง่ายขึ้น จากใช้ตะกรอแบบ 21 ไม้ ให้เหลือ 15 ไม้ ซึ่งหากผู้ทอมีความชำนาญก็ไม่จำเป็นต้องขึ้นกราฟ ก็สามารถเก็บรายละเอียดในผ้าได้เลย หรือ เรียกว่าทอสดได้เลย ด้วยการสังเกตจากลายผ้าทอตัวอย่าง ที่หามาได้จากคนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้าน ซึ่งการทำกราฟถือว่ามีความสำคัญ เหมือนการทำบันทึกลายผ้าเอาไว้ เพื่อให้คนรุ่นถัดไปได้ศึกษาต่อ เพราะในอดีตไม่ได้มีการทำกราฟ แต่จะใช้วิธีการจดจำ และความชำนาญของผู้ทอ
นางสาวรุจิรากล่าวอีกว่า การที่วัฒนธรรมจังหวัดตรังจัดอบรมทอผ้าลายอัตลักษณ์ประจำจังหวัดตรังในครั้งนี้ ถือเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะเท่ากับผู้เรียนได้สืบสานการทอผ้าลายนี้ หากไม่มีใครจุดประกายทางกลุ่มเองก็ได้แต่เก็บลายสำคัญที่ไว้กับตัว ไม่รู้จะสอนให้ใคร ซึ่งเท่าที่สังเกตจากผู้มาเรียนในโครงการนี้ มีแววจะทอได้ดีถึง 4 คน การสอนทอลายแก้วชิงดวง ครั้งนี้เป็นการสอนครั้งที่2 โดยครั้งแรกได้สอนให้กับนักเรียนโรงเรียนวิเชียรมาตุ แต่เป็นการสอนแบบพื้นฐาน ไม่มีการลงกราฟ ไม่ได้เก็บลาย และครั้งนี้เป็นสอนแบบเต็มตัว สอนการทอแบบโบราณ อยากให้วัฒนธรรมจัดโครงการดีๆแบบนี้เป็นโครงการที่ต่อเนื่อง และควรใช้เวลาเรียนให้มากกว่านี้ เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจ และทำได้จริง ในส่วนของกลุ่มผ้าทอนาหมื่นศรีก็มีข้อจำกัด คือ มีจำนวนกี่โบราณที่น้อย ไม่เพียงพอต่อการสอน ส่วนผู้ที่สนใจเรียนหากมีกี่เป็นของตัวเองจะดีมาก เพราะสามารถกลับไปฝึกทอที่บ้านได้
“ที่สำคัญการทอผ้าต้องใช้ความรักเป็นสำคัญ ไม่ใช่คิดแค่เงินเป็น สิ่งสำคัญ ต้องใช้ใจทอจึงจะได้ผลที่ดี โดยผ้าทอกี่โบราณของผ้าทอนาหมื่นศรี มีคุณค่า มีราคาสูง เพราะเป็นลายดั้งเดิมที่สืบทอดกันมาจากครูทอผ้าสมัยก่อนๆ และสมัยก่อนนาหมื่นศรีไม่มีกี่กระตุก ลายที่ได้จากกี่โบราณเป็นลายนูนขึ้น และ มีความชัดเจนของลายมากกว่ากี่กระตุกในปัจจุบัน การทอด้วยกี่โบราณจึงมีความยาก ซับซ้อน สมัยโบราณ การทอที่ผูกโยงกับความเชื่อทางพระพุทธศาสนาใช้ถึง100ตระกรอ ซึ่งเป็นความมหัศจรรย์ของคนโบราณที่มากปฏิภาณและความสามารถ” นางสาวรุจิราระบุ
นางสาวรุจิรา กล่าวว่า ตนเรียนรู้การทอผ้ากี่โบราณมาจากนางบุญช่วย แป้นทอง เป็นครูผ้าภูมิปัญญาในกลุ่มทอผ้านาหมื่นศรี ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว และเป็นครูผ้ารุ่นสุดท้ายของกลุ่ม โดยเริ่มต้นประมาณปี 2546 จากการเรียนทอผ้าผื่นเล็ก ทอเป็นผ้าเช็ดหน้าลายเม็ดแตง ตอนแรกตั้งใจมาทอแบบกี่กระตุก แต่กลุ่มผ้าทอหมื่นศรีในตอนนั้นต้องการช่างทอกี่โบราณ ตนก็เลยทอกี่โบราณตั้งตอนนั้น ซึ่งทุกวันนี้สมาชิกทอผ้าแบบกี่โบราณของกลุ่มผ้าทอนาหมื่นศรี เหลืออยู่เพียง 4 คน
ชื่อลายผ้า : ลายแก้วชิงดวง วิสาหกิจชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี ต.นาหมื่นศรี อ.นาโยง จ.ตรัง
ครั้งแรกของไทย… จากอัตลักษณ์ไทย อัตลักษณ์ท้องถิ่นสู่ลายผ้าประจำจังหวัด
ความเป็นมา : ลายแก้วชิงดวง มีลักษณะเป็นวงกลมเกี่ยวร้อยทับกัน ภายในช่องที่เป็นใจกลางมีลูกแก้วฝูง 4 เม็ด ลายผ้ามีลักษณะเหมือนเงินจีน หากมีไว้ครอบครอง จะมั่งมี ศรีสุข นอกจากนั้นลายผ้ามีลักษณะคล้ายเลข 8 ที่เชื่อมคล้องต่อกันแสดงถึงความมงคลหรือร่ำรวยไม่มีที่สิ้นสุด อีกทั้ง ลวดลายวงกลมที่คล้องกันเปรียบเสมือนการสร้างความสัมพันธ์ ความรักสามัคคี และเป็นศูนย์รวมใจของสมาชิกกลุ่มทอผ้านาหมื่นศรีที่ถักทอแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของคนในชุมชนจังหวัดตรัง